คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิบัวหลวง และประธานโครงการดาวเด่นบัวหลวง ๑๐๑ เปิดเผยว่า การจัดโครงการประกวดศิลปิน "ดาวเด่นบัวหลวง ๑๐๑" ครั้งที่ ๑๑ ภายใต้หัวข้อ "ก้าวใหม่ : ศิลปะไทยวิวัฒน์ " เพื่อเปิดเวทีสร้างสรรค์ให้ศิลปินรุ่นใหม่ แสดงออกถึงความสามารถ จุดประกายความตื่นตัวการสร้างสรรค์งานศิลปะ ของศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่สู่สาธารณชน มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กลวิธี กระบวนการสร้างสรรค์งาน และการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างกัน อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาชีวิตและสังคมต่อไป ขณะเดียวกันกิจกรรมนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง สถาบันการศึกษา มูลนิธิบัวหลวง และหอศิลป์
โครงการประกวดศิลปิน "ดาวเด่นบัวหลวง ๑๐๑" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมาเยาวชนที่ได้รับรางวัลศิลปินดาวเด่นบัวหลวงต่างก้าวเดินและเติบโตในเส้นทางศิลปะในหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอาชีพ อาจารย์ หรือโอกาสในการศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการ "ดาวเด่นบัวหลวง ๑๐๑" จึงนับเป็นเวทีสูงสุดเวทีหนึ่งของเยาวชน ที่เปิดโอกาสและเปิดโลกกว้างให้กับนักศึกษาศิลปะทุกคน
สำหรับการดำเนินโครงการในปีนี้ มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการ ๓๒ สถาบัน จาก ๓๕ คณะ โดยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมโครงการฯ คัดเลือกนักศึกษา ที่กำลังศึกษาศิลปะในระดับปริญญาตรีสองปีสุดท้าย ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าแข่งขันจะต้องร่วมทำกิจกรรมที่กำหนดไว้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ อย่างต่อเนื่องทุกวัน เป็นเวลา ๑๐ วัน และต้องสร้างสรรค์งานศิลปะที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ เท่านั้น ไม่สามารถนำงานศิลปะออกไปดำเนินการต่อนอกสถานที่ได้
ผลงานศิลปินดาวเด่นบัวหลวงที่ได้รับรางวัลทุกประเภท เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิบัวหลวง และผลงานจิตรกรรมทุกชิ้นที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ มูลนิธิบัวหลวงมีสิทธิ์ในการจัดพิมพ์และเผยแพร่ผลงานในสูจิบัตร และเอกสารสิ่งพิมพ์ รวมทั้งสารสนเทศสมัยใหม่ทุกอย่าง รวมถึงลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ผลงานของศิลปินให้เป็นที่แพร่หลายต่อไป
คุณหญิงชดช้อย ยังกล่าวอีกว่า หัวข้อในการสร้างสรรค์ " ก้าวใหม่ : ศิลปะไทยวิวัฒน์" ในปีนี้ โดยอาจารย์ธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งได้แนวคิดมาจาก ก้าวใหม่ของศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นอัตลักษณ์ของ โครงการดาวเด่นบัวหลวง๑๐๑ เวทีการประกวดที่สนับสนุน ส่งเสริม ศิลปินรุ่นเยาว์ มายาวนาน นอกจากนี้ ศิลปะของไทยในยุคต่างๆ ล้วนแล้วแต่แสดงถึงจิตวิญญาณ และสภาพสังคมในยุคนั้นๆ เช่นเดียวกับศิลปะในยุคสมัยปัจจุบัน ที่ศิลปะไทย ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย และโลกยุคใหม่อย่างกลมกลืน งดงาม
จากประวัติศาสตร์ของประเทศ ศิลปะในแต่ละยุคสมัย ล้วนมีลักษณ์เฉพาะตัว เช่น พระพุทธรูปปางลีลา สมัยสุโขทัย หรือในสมัยอยุธยา ที่มีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมแบบประเพณีสองมิติ งานแกะสลักไม้ งานเครื่องเงินเครื่องทอง เครื่องประดับเพชรพลอย วรรณศิลป์ บทประพันธ์และโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนฯ ดนตรี การแสดง โขน ละคร และการแสดงศิลปะพื้นบ้านในทุกภูมิภาคของไทย ที่เป็นมรดกตกทอดมาจนตราบจนทุกวันนี้ ซึ่งศิลปะแขนงต่างๆ ของไทยในอดีตเหล่านี้ น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ในการทำงานศิลปกรรมร่วมสมัยของไทยยุคใหม่ ที่มีอัตลักษณ์แห่งยุคสมัย
"หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และมูลนิธิบัวหลวง หวังงานการจัดโครงการ ดาวเด่นบัวหลวง ครั้งที่ ๑๑ นอกจาก เปิดโอกาสให้เยาวชน เข้ามาเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันแล้ว ยังได้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสนใจและเข้าใจในงานศิลปะมากขึ้นอีกด้วย" คุณหญิงชดช้อย กล่าว
ทั้งนี้ผลงานศิลปินดาวเด่นบัวหลวงที่ได้รับรางวัล จะจัดแสดงที่ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชั้น 4 – 5 ระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ถึง วันที่ 8 มกราคม 2562 เวลา 10.00 น. ถึง19.00 น. (ยกเว้นวันพุธ) หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.queengallery.org และ http://facebook.com/ queengallerybkk/ โทร 0 2281 5360 - 1