จัดทำโดย น.ส. สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์
ฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อาจารย์ ดร. นพ. สรภพ เกียรติพงษ์สาร
น.ส. ลักษิกา อุดมศรีสำราญ
น.ส. ราวีณา ปาวา
ชุดโครงการวิจัยการเจริญพันธุ์และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทยมีความกังวลใจต่อปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ และคาดว่าการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสังคมเด็กเกิดน้อย จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งเศรษฐกิจไทย กำลังซื้อในประเทศ ตลาดแรงงานและผลประกอบการของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนไทยเตรียมกลยุทธ์ในการบริหารจัดการด้านบุคลากรไว้รองรับแล้ว อาทิ การพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การปรับปรุงกระบวนงานโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเพื่อลดขั้นตอนการทำงาน ขณะเดียวกันมีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นให้บุคลากร และให้ความสนใจกับการนำแนวคิดเรื่องสมดุลชีวิตและหน้าที่การงาน มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาบุคลากรในองค์กร"
- CEO ส่วนใหญ่หรือเกือบทุกอุตสาหกรรมมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ โดยเฉพาะในหมวดธุรกิจที่ต้องมีความชำนาญเฉพาะด้านได้แก่ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อาทิ หมวดธุรกิจยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ 2) กลุ่มการเงิน ทั้งหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ หมวดประกันภัยและประกันชีวิต 3) กลุ่มบริการ ได้แก่ หมวดการแพทย์ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ และ 4) บริษัทจดทะเบียนในหมวดอื่นๆ ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดเครื่องใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน
- แนวโน้มการจ้างงานในช่วง 1 ปีข้างหน้า CEO ส่วนใหญ่คาดว่า จะคงระดับการจ้างงาน ขณะที่ในระยะยาวในช่วง 5 ปีข้างหน้า CEO ส่วนใหญ่วางแผนจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจ้างพนักงานชั่วคราว ขณะที่การจ้างงานพนักงานประจำและผู้เชี่ยวชาญมีแนวโน้มอยู่ในระดับเดิม
- CEO คาดว่า "การที่สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย" และ "สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมที่มีเด็กเกิดน้อย" จะส่งผลกระทบเชิงบวกกับบางหมวดธุรกิจ อาทิ บริษัทในหมวดการแพทย์ แต่ CEO ส่วนใหญ่คาดว่าภาวะดังกล่าวจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย กำลังซื้อ ตลาดแรงงาน ตลอดจนผลประกอบการของบริษัท
- บริษัทจดทะเบียนมีการผสมผสานกลยุทธ์ในการบริหารจัดการบุคลากร โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning organization)การปรับปรุงระบบการทำงานโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาลดขั้นตอนการทำงาน การจัดอบรมเพื่อเพิ่มทักษะพิเศษ การสรรหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และให้ความใส่ใจกับพนักงานให้การสร้างสมดุลชีวิตและหน้าที่การงาน ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยคาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นในระยะยาว
- บริษัทจดทะเบียนไทยนำแนวคิด "สมดุลชีวิตและหน้าที่การงาน (work-life balance)" มาใช้ในการบริหารบุคลากร อาทิ 1) การพิจารณาจำนวนแรงงานตามความเหมาะสม 2) การเสริมสร้างพัฒนาด้านสมดุลด้านอารมณ์ อาทิ การส่งเสริมแนวคิดทางบวก การจัดอบรมปฏิบัติธรรม 3) การให้ความสำคัญกับการบริหารเวลา อาทิ การปรับเวลาทำงานแบบมีความยืดหยุ่น การกำหนดเวลาทำงานล่วงเวลา การกำหนดให้พนักงานลาพักร้อนติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง (block leave) และ 4) การนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ลดเวลาการทำงานและการประชุม
บริษัทจดทะเบียนไทยบางส่วนเสนอภาครัฐในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ และแนะสังคมปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ส่งเสริมการศึกษาด้านงานฝีมือและวิชาชีพ อาทิ กฎหมาย บัญชี เพิ่มมากขึ้น