ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาที่มีความท้าทายต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเป็นอย่างมากและรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงต้องร่วมมือกันในทุกระดับทั้งในส่วนองค์กรระดับประเทศ ระดับโลก หรือระดับปัจเจกบุคคล เพื่อพัฒนานโยบายและแนวทางจัดการขยะพลาสติกให้ดีขึ้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศในการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เช่น การประเมินวัฏจักรชีวิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ นักวิชาการ และเอกชนเป็นอย่างดี โดยงานวันนี้จะมีสวนช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติที่จะส่งผลดีต่อสังคมในแง่เศรษฐกิจสีเขียว สภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และการเติบโตอย่างยั่งยืน"
Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า วันวิทยาศาสตร์โลกเพื่อสันติภาพและการพัฒนา เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โดยองค์การยูเนสโกกรุงเทพฯ จัดงานวันนี้ขึ้นด้วยความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รูปแบบงานวันนี้คือ "วิทยาศาสตร์-สิทธิมนุษยชน (Science-a human right)" โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประกาศโดยสมัชชาแห่งสหประชาชาติในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ในมาตรา 27 ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ระบุว่า : (1) ทุกคนมีสิทธิ ... เพื่อมีส่วนร่วมในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และผลประโยชน์ของตน ซึ่งยูเนสโกจัดงานดังกล่าวเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนใช้สิทธิมนุษยชนที่จะมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ โดยงานวันนี้ มีวิทยากรจากประเทศจีนเยอรมนีอินเดียและรวันดานำเสนอผลงาน 4 เรื่องครอบคลุมประเด็นปัญหามลพิษทางพลาสติกรวมทั้งแนวทางแก้ไขที่อาจเกิดขึ้น มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย นักศึกษา เอกอัครราชทูต ผู้แทนจากอุตสาหกรรม สหประชาชาติ หน่วยงานภาครัฐของไทย และสถาบันการศึกษา ภายหลังการบรรยายเป็นการนำเสนอผลงานโปสเตอร์ โดยยูเนสโกจะใช้วันนี้เป็นโอกาสในการริเริ่มเกี่ยวกับโครงการพลาสติกและจะทดสอบแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ด้าน นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ ให้ความร่วมมือกับยูเนสโก ในการนำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นการจัดการขยะพลาสติก จำนวน 3 เรื่องเพื่อเรียนรู้วิธีการลด (reduce) ใช้ซ้ำ (reuse) และนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ได้แก่ กิจกรรมลดการใช้พลาสติกโดยไม่สร้างผลิตภัณฑ์พลาสติก กิจกรรมใช้ขวดพลาสติกซ้ำโดยนำของเก่าที่จะนำทิ้งมาสร้างประโยชน์ใหม่ๆ และกิจกรรมรีไซเคิลพลาสติกโดยเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เก่าเป็นของใหม่เพื่อให้สามารถขายต่อได้ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างความตระหนักถึงอันตรายของโลกในการใช้พลาสติกที่มากเกินไปและเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการและทางเลือกที่เป็นไปได้ ซึ่งหากปฏิบัติตามอย่างมีนัยสำคัญจะช่วยลดการบริโภคลงได้ ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1: ลดการใช้พลาสติกโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบกิจกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงการกลับคืนสู่ธรรมชาติและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทย เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารจากใบตองกล้วย หลอดจากลำต้นดอกบัว ภาชนะบรรจุน้ำจากไม้ไผ่ และการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติซึ่งง่ายต่อการย่อยสลาย เช่น นมและแป้งในการผลิตพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น กิจกรรมที่ 2 นำขวดพลาสติกมาใช้ซ้ำ โดยได้แนวคิดและแรงบันดาลใจจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่มีขยะกระติกน้ำขวดพลาสติกลอยกระจายไปทั่ว จึงได้พยายามที่จะช่วยนำขวดพลาสติกเหล่านี้มาใช้ใหม่ ได้แก่ ใช้ขวดพลาสติกสำหรับทำสื่อการศึกษา และประยุกต์ใช้ในงานในครัวเรือน และกิจกรรมที่ 3 รีไซเคิลพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นถุงขวดและกล่องของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ เป็นต้น