แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ที่มีนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการครบ180 วัน หลังจากรัฐบบาลได้มีมติจัดตั้งเมื่อ ปี 2542 ตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 และในปี 2544 รัฐบาลได้แก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ ให้มีภารกิจเพิ่มขึ้น โดยมีหน้าที่ด้านจัดการหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ด้วยวิธีให้กองทุนฟื้นฟูฯ มีอำนาจซื้อหนี้ของเกษตรกรจากเจ้าหนี้สถาบันการเงินต่างๆ มาบริหารหนี้ใหม่เอง อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบการบริหารจัดการหนี้สินเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูฯ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งได้รายงานต่อ ครม. พบว่า ตั้งแต่ ปี 2542-2556 กองทุนฟื้นฟูฯ ยังไม่สามารถดำเนินการตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ และขาดประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สินเกษตรกร รวมทั้งโครงสร้างของคณะกรรมการจัดการหนี้สินเกษตรกร ก็มีองค์ประกอบไม่เหมาะสมทำให้มีผลประโยชน์ซ้อนกัน (conflict of interest) ระหว่าง คณะกรรมการจัดการหนี้สินเกษตรกรกับเกษตรกรกับลูกหนี้ และเมื่อกองทุนฟื้นฟูฯ ไปซื้อหนี้มาจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้แล้ว ก็ไม่ได้มีการพัฒนาอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้มีรายได้มาชำระหนี้ใหม่ที่กองทุนฟื้นฟูฯ แต่อย่างใด ตามการรายงานของ
จากนั้น ในปี 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 26/2560 เมื่อวันที่ 18 พ.ค.60 แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ขึ้นทำหน้าที่แทนคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นการเฉพาะกิจ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรเท่าที่จำเป็นและเร่งด่วน การปรับปรุงกฎหมายและการบริหารงานของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยได้กำหนดให้ คณะกรรมการดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ มีวาระการทำงาน 180 วัน หากภารกิจยังไม่แล้วเสร็จให้ ครม. มีอำนาจขยายเวลาการปฎิบัติภารกิจได้คราวละ180 วัน
ทั้งนี้ ผลการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่สำคัญเร่งด่วนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 6.7 ล้านคน (ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 60) ม่ความประสงค์ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้แล้ว จำนวน 468,558 ราย วงเงิน 85,823.93 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติที่จะดำเนินการจัดการหนี้ได้จำนวน 55,515 ราย วงเงิน 9,796 ล้านบาท แยกเป็น 1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินเร่งด่วนที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีหรือขายทอดตลาดตามคำพิพากษา เกษตรกรถูกบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด 4,643 ราย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเจรจากับสถาบันเจ้าหนี้ ผลการเจรจา ได้แก่ ชะลอดำเนินการทางกฎหมาย 2,299 ราย เจ้าหนี้ดำเนินการทางกฎหมาย 444 ราย เกษตรกรชำระหนี้เองง 158ราย และไม่เข้าสู่กระบวนการเจรจา 1,742 ราย 2.กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในกรณีต่างๆ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่ง คกก.กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ ได้แก่ กรณีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์การจัดการหนี้สินเกษตรกร พ.ศ. 2560 อนุมัติให้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดการซื้อหนี้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับโครงสร้างหนี้ รวม 1,518 ราย วงเงินเป็นหนี้รวมจำนวน 642.54 ล้านบาท
ขณะที่ กรณีเกษตรกรขาดคุณสมบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์การจัดการหนี้สินเกษตรกร พ.ศ. 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นคนกลางในการเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละสถาบันการเงิน โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรลูกหนี้ ได้แก่ 1.ลูกหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสมาชิกมีหนี้ NPLs 36,605 ราย วงเงินเป็นหนี้ 6,382.67 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงค้าง 3,829.38 ล้านบาท ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกร ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 61โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง และดอกเบี้ยทั้งหมด สามารถผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 15 ปี ผ่อนเรียบร้อย ดอกเบี้ยจะพิจารณายกให้ และนำเงินต้นครึ่งหนึ่งที่พักชำระหนี้ไว้มาปรับโครงสร้าง ภายใต้หลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่เกษตรกร 2.ลูกหนี้ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) เกษตรกรสมาชิกมีหนี้ NPLs 2,389 ราย วงเงินเป็นหนี้ 630.59 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างธนาคาร ทั้งสองนำเสนอคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม. 3.ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ เกษตรกรสมาชิกมีหนี้ 573 ราย วงเงินเป็นหนี้ 383.45ล้านบาท ให้เกษตรกรลูกหนี้ชำระเพียงร้อยละ 50 ของเงินต้นคงค้างเพียงครั้งเดียว ภายใน 30 มิ.ย. 62 4.ลูกหนี้ของสหกรณ์การเกษตร เกษตรกรสมาชิกมีหนี้ 15,973 ราย วงเงินเป็นหนี้ 2,345.01 ล้านบาท โดย ยินยอมให้กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรชำระหนี้แทนได้ 238 สหกรณ์ สมาชิก 1,398 ราย วงเงินเป็น หนี้ 599.10 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้สหกรณ์ฯ ช่วยเหลือสมาชิก เช่น การลดดอกเบี้ย ขยายเวลาผ่อนชำระฯ เป็นต้น โดยสหกรณ์จะช่วยเหลือ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และ5.ลูกหนี้ของนิติบุคคลอื่น ได้มีการเจรจากับนิติบุคคลต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกร โดยนิติบุคคลให้ลูกหนี้ติดต่อโดยตรง เพื่อให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยว่ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ อยู่ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการเสนอกฎหมาย โดยให้แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ มาตรา 16, 23 และมาตรา 37/9 ซึ่งได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้ง ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาระบบงานฯ ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เช่น ด้านการเงินและบัญชี ด้านบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน ด้านข้อมูลสารสนเทศและระบบโปรแกรม ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร การบริหารจัดการคดีความ การปรับปรุงแก้ไขระเบียบ เป็นต้น
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ ได้ประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรใหม่ตามข้อสังเกตของ สตง. โดยมอบหมายสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้ มีรายได้ มีการจัดการความรู้ การผลิต การตลาด ซึ่งได้อนุมัติโครงการฟื้นฟูเกษตรกรฯ ให้กับองค์กรเกษตรกร 665 โครงการ เกษตรเข้าร่วม 10,659 ราย วงเงิน 67.03 ล้านบาท และฟื้นฟูเกษตรกร ที่ได้รับอุทกภัย 1,114 โครงการ
"อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันที่ 8 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา ได้ครบวาระ 180 วัน ในการปฎิบัติภารกิจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ และตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 26/2560 เมื่อวันที่ 18 พ.ค.60 ได้มีการกำหนดให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ต่อไป"แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าว