นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศผ่านหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้าร่วม 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม โดยปี 2561ใช้งบประมาณดำเนินการไปแล้วกว่า 11,996 ล้านบาท เป็นน้ำยางข้น 8,802.40 ตัน ยางแห้ง 785.85 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่นำไปสร้างหรือปรับปรุงถนน อยู่ระหว่างดำเนินการ และจัดซื้อจัดจ้างอีกกว่า 12,912 ล้านบาท เป็นน้ำยางข้น 37,823.78 ตัน สำหรับการซื้อยางตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐจากนี้ จะดำเนินการผ่าน กยท. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมความต้องการใช้ยาง และเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อยางผ่านสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.
นายเยี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการติดปัญหาเรื่องงบประมาณและวิธีการจัดจ้างที่กรมบัญชีกลางยังไม่ได้กำหนดราคากลางของการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า แต่มีบางหน่วยงานใช้งบประมาณปกติเพื่อดำเนินการแล้ว ซึ่งในส่วนของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี 2561 ได้รับการจัดสรรเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา งบประมาณเพิ่มเติมได้รับอนุมัติไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังเตรียมการจัดซื้อยางผ่าน กยท. ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
นอกจากการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวแล้ว กยท. ยังดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ร่วมในสวนยาง โดยปี 2561 กยท. กำหนดเป้าหมายการปลูกแทนแบบผสมผสานจำนวน 7,000 ไร่ ผลการดำเนินงานเกษตรกรทำการปลูกแทนแบบผสมผสาน จำนวน 8,883.20 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 126.90 สำหรับปีงบประมาณ 2562 เพิ่มเป้าหมายการปลูกแทนแบบผสมผสานเป็น 20,000 ไร่ รวมถึงดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อย เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มีอาชีพเสริม และเพิ่มรายได้ในครัวเรือน โดยที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 14,623 ราย โดยเป็นการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวนไร่ละ 10,000 บาท พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้อาชีพเสริมแก่เกษตรกร ทั้งนี้ได้ขยายระยะเวลาให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้วดังแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในการสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ได้ให้การสนับสนุนผ่านงบประมาณกองทุนมาตรา 49 (3) และ (6)ในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อยางมาแปรรูป สนับสนุนในเรื่องของการปรับปรุงเครื่องจักร ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง แต่เนื่องจากพื้นที่การทำสวนยางของเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้เกิดข้อจำกัดและเงื่อนไขเรื่องการขอจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราระดับชุมชนและการขยายโรงงานแปรรูปยางพาราเพิ่มเติม ขณะนี้ กยท. กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูล รายละเอียด ของกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ จำนวน 1,018 สถาบันฯ ซึ่งมีสมาชิกสถาบันฯ ทั้งสิ้น 340,822 ราย รวมถึงผู้ประกอบการด้านยางพาราเกี่ยวกับประเด็นปัญหา อุปสรรค ในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านกิจการผังเมือง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่ควบคุมการจัดตั้งโรงงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว รักษาการ ผวก.กยท. กล่าวทิ้งท้าย