นายสเปญ จริงเข้าใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อประเภทอื่นๆ เปิดเผยถึง ผลประกอบการของบริษัทฯในงวด 9 เดือนแรกปี 2561 (1 ม.ค.-30 ก.ย.) มียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ 648 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากการเติบโตของยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถแทรคเตอร์ของ นิว ฮอลแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ คือ บริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด โดยสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ 73% และสินเชื่อส่วนบุคคลและนิติบุคคล 27%
ในงวด 9 เดือนปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมจำนวน 133 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ เท่ากับ 34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41% เมื่อปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 24 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้รวม ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 26 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 39 ล้านบาท
"ผลประกอบการที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจทั้งรายได้และกำไร แต่บริษัทฯ ยังมีความท้าทายในการบริหาร NPL การติดตามหนี้ ซึ่งก็ได้มีการปรับทีมเพื่อเข้าแก้ปัญหาแล้วตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการออกและเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน และเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อของบริษัท" นายสเปญ กล่าว
ทั้งนี้กลยุทธ์ที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามกระจายประเภทของสินเชื่อให้ไม่กระจุกตัว เพื่อไม่ให้การรับรู้รายได้กระจุกตัว จากเดิมที่รายได้มักจะกระจุกในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวของเกษตรกร โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสินเชื่อสบายใจอันดามัน เป็นสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรเรือและสินเชื่อในการซ่อมบำรุง สำหรับธุรกิจเรือท่องเที่ยว เข้ามาช่วยเสริมรายได้ในช่วงกลางปี รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/2561 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของภาคการเกษตร และปีนี้ปัญหาภัยแล้งไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ขยายตลาดสินเชื่อเช่าซื้อผ่านการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และภาคธุรกิจท่องเที่ยว ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
"การบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 3.1% จากสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 3.5% จากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และบริษัทจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพิจารณาเครดิตของลูกค้า นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 2/2561 ที่ผ่านมา เรามีการตั้งทีมงานพิเศษเพื่อเข้ามาจัดการหนี้โดยตรงในแต่ละเซ็คเตอร์ของธุรกิจ มีทีมงานโฟกัสและรายงานผล ซึ่งบริษัทจะยึดตัวเลข NPL ณ สิ้น 31 ธ.ค. เป็นตัวตั้ง เนื่องจากช่วงทุกๆ ไตรมาส 4 เงินสำรองหนี้ที่ตั้งไปส่วนใหญ่จะถูกดึงกลับมาบันทึกเป็นกำไร จากการที่ลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้เป็นจำนวนมากในไตรมาสดังกล่าว ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวของเกษตรกร" นายสเปญ กล่าว
ทั้งนี้ สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ของบริษัทฯ ยังคงรุกธุรกิจปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรในสัดส่วน 60-70% เนื่องจากปัจจุบันเครื่องจักรกลการเกษตรมีหลากหลายประเภทมากขึ้น ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งบริษัทจะเน้นปล่อยสินเชื่อบุคคลมากขึ้น แต่จะพิจารณาปล่อยวงเงินไม่เกินคนละ 5 ล้านบาท โดยจะเน้นปล่อยสินเชื่อใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ สินเชื่อสบายใจตลาดคลองเตย สินเชื่อสบายใจตลาดปัฐวิกรณ์ สินเชื่อสบายใจอันดามัน และเตรียมเปิดสินเชื่อสบายใจตลาดไท ภายในปีนี้