ผศ.ดร.ไชยวุธ โกศล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการนำเสนอผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง ในโครงการนาฏยรังสรรค์สู่ชุมชน ครั้งที่ 3 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ณ หับ โห้ หิ้น (โรงสีแดง) ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ว่า ในปีนี้นักศึกษานำการแสดงต่างๆ รวม 4 ชุด ได้แก่ 1. ระบำลั่นกลองทำนองเท่งตุง 2. ระบำอามิสบูชาแห่ผ้าขึ้นเขากุฏิ 3. Queen Of Ornamental plant (ราชินีไม้ประดับ) และ 4. การแสดงโนราทำบทราชภัฏสงขลา เผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน ซึ่งการแสดงนาฏยรังสรรค์ถือเป็นผลงานการสร้างสรรค์การแสดงใหม่ๆ ของทางโปรแกรมฯ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แสดงถึงศักยภาพของบัณฑิตนาฏยรังสรรค์ได้เป็นอย่างดี สร้างชื่อเสียงให้แก่ทางคณะฯ และมหาวิทยาลัยตลอดมา
ด้าน ผศ.ทัศนียา คัญทะชา ประธานโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง กล่าวว่า การแสดงแต่ละชุดมีความโดดเด่นและน่าสนใจ เริ่มจากโนราทำบทราชภัฏสงขลาที่มีแนวคิดว่าในปี พ.ศ.2562 มรภ.สงขลา จะมีอายุครบ 1 ศตวรรษ นักศึกษาจึงสร้างสรรค์การแสดงโนราชุดนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของมหาลัยวิทยาลัย รูปแบบของการแสดงช่วงที่ 1 เป็นการรำประสมท่าหรือการรำเพลงโค ซึ่งนำท่ารำมาจากขุนอุปถัมภ์นรากร มาจากบทครูสอน บทสอนรำและบทปฐม มาผสมผสานกันจนทำให้เกิดท่ารำใหม่ ช่วงที่ 2 การรำทำบท 100 ปีราชภัฏสงขลา กล่าวถึงประวัติของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน และช่วงที่ 3 การรำท่าครู ส่วนการแสดงชุดระบำลั่นกลองทำนองเท่งตุง เป็นระบำพื้นบ้านภาคใต้ที่มีแนวคิดในการนำกลองตุ๊ก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญต่อการแสดงตั้งแต่สมัยโบราณ ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย มาเป็นองค์ประกอบในการแสดง ใช้จังหวะที่สนุกสนานเร้าใจ ผสมผสานกับท่าทางการร่ายรำโนราซึ่งเป็นระบำพื้นบ้านภาคใต้
ผศ.ทัศนียา กล่าวอีกว่า สำหรับการแสดงชุดระบำอามิสบูชาแห่ผ้าขึ้นเขากุฏิ มีแนวคิดจากการนำขั้นตอนประเพณีแห่ผ้าขึ้นเขากุฏิมาสร้างสรรค์เป็นชุดการแสดง โดยในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จเจ้าเกาะยอเดินธุดงค์จากกรุงศรีอยุธยามายังเมืองสงขลา เมื่อเดินทางมาถึง ต.เกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงสร้างกุฏิให้สมเด็จเจ้าเกาะยอ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงสุดของเกาะยอ ซึ่ง (ปัจจุบันเรียกว่าเขากุฏิ) ภายหลังสมเด็จเจ้าเกาะยอมรณภาพชาวบ้านจึงสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิของสมเด็จเจ้าเกาะยอ และสร้างเทวดาตามมุมองค์พระเจดีย์ไว้ทั้ง 4 ทิศ คือ เทพพนม และท้าวจตุโลกบาล เสมือนเป็นการปกปักษ์รักษาสมเด็จเจ้าเกาะยอ องค์พระเจดีย์นี้เป็นอนุสรณ์สถานไว้ให้กับชาวเกาะยอเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และถือกำเนิดประเพณีแห่ผ้าในเวลาต่อมา
ในส่วนของการแสดงชุด Queen Of Ornamental plant (ราชินีไม้ประดับ) มีแนวคิดจากการนำดอกเฟื่องฟ้าซึ่งเป็นดอกไม้ประจำ จ.สงขลา มานำเสนอถึงความสวยงามเบ่งบานสะพรั่ง ดอกเฟื่องฟ้ามีคุณประโยชน์มากมาย อดทนต่อทุกสภาพอากาศ คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล เมื่อดอกเฟื่องฟ้าบานจึงแสดงถึงความเบิกบาน สว่างไสว ความรุ่งเรืองแห่งชีวิต นักศึกษานาฏยรังสรรค์จึงต้องการนำเสนอเอกลักษณ์ของดอกเฟื่องฟ้าที่ผลิดอกเป็นกลุ่มช่อ และทนต่อแดด ลม ฝน วิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ แต่ก็สามารถผ่านช่วงวิกฤตการณ์เหล่านั้นมาได้ เช่นเดียวกับการดำรงชีวิตของคนเราที่ต้องเจออุปสรรค แต่ท้ายที่สุดสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี