EXIM BANK จัดประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชีย ครั้งที่ 24 จ.ภูเก็ต เตรียมความพร้อมผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยและเอเชียเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

พฤหัส ๑๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๑:๑๑
EXIM BANK เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชีย (Asian EXIM Banks Forum : AEBF) ครั้งที่ 24 ภายใต้หัวข้อ "อุตสาหกรรม 4.0" โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ณ โรงแรมเดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ทแอนด์สปา ภูเก็ต เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่พร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าเสรีที่จะนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชนไทยและชาติเอเชีย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า การค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของทุกประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยส่งออกสินค้าและบริการเป็นสัดส่วนสูงกว่า 77% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) การรวมกลุ่มความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของชาติต่างๆ ในเอเชีย จึงเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมี EXIM BANK ทำหน้าที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ดำเนินภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยขยายเครือข่ายความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งกับองค์กรการเงินเพื่อการส่งออกในประเทศต่างๆ รวมถึงสมาชิก AEBF ที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อไปว่า วิกฤตการเงินโลกที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอลงต่ำกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปี 2560 มูลค่าการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว เติบโตที่ระดับ 4.7% สูงสุดในรอบ 6 ปี เป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวและเศรษฐกิจจีนโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการของไทยขยายตัว 5.5% ในปี 2560 และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2561 คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยทั้งปี 2561 อยู่ที่ 4.5% เป็นผลจากการเติบโตของภาคการส่งออกไทยเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ 8.0% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาติในเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความตกลงเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างชาติในเอเชียจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ช่วยลดผลกระทบดังกล่าว นำไปสู่การค้าเสรี ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนของประชาชนในเอเชียในที่สุด ภารกิจส่วนหนึ่งของกระทรวงการคลัง ได้แก่ การทยอยลดอัตราภาษีนำเข้า ปรับปรุงกระบวนการศุลกากร และพัฒนาระบบพิธีการหน้าต่างเดียวในอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์และขนส่งเชื่อมโยงประเทศไทยกับตลาดการค้าโลก โดยปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่โมเดล "ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งรัฐบาลไทยกำหนดเป้าหมายจะพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน อาทิ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยให้มาตรการจูงใจด้านภาษี ประเทศไทยมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความเชื่อมโยงและร่วมมือกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อความมั่งคั่งและรุ่งเรืองของเอเชียอย่างยั่งยืน

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จึงพร้อมดำเนินภารกิจสอดประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีข้อมูลและเครื่องมือทางการเงินที่จะเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่ ดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยศึกษาต้นแบบจากประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ด้วยเหตุนี้ EXIM BANK จึงผลักดันให้เกิดการประชุมหารือในหัวข้อ "อุตสาหกรรม 4.0" ในการประชุมประจำปีครั้งที่ 24 ของ AEBF ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในปีนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ท่ามกลางกระแสหรือเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา กล่าวคือ การก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ผลิตสินค้า สร้างกระบวนการผลิตอัจฉริยะเพื่อผลิตสินค้าที่หลากหลายและตรงกับความต้องการป้อนผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดต้นทุน มีประสิทธิภาพ และครบวงจร สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะยกระดับการพัฒนาภาคการผลิต ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยและภูมิภาคเอเชีย

นายพิศิษฐ์ เปิดเผยต่อไปว่า ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเอเชียผนวกกับความร่วมมือระหว่างสมาชิก AEBF เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนและแสวงหาโอกาสใหม่ร่วมกัน จะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของเอเชีย ต่อยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะขยายตัว 5.6% ในปี 2561 และ 5.4% ในปี 2562 เป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดี ประกอบกับเม็ดเงินจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามายังภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ GDP ของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเป็นที่ต้องการอีกกว่า 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคและโลกโดยรวมขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

ทั้งนี้ การประชุมระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชียจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สมาชิก 11 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ตุรกี รวมทั้งธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) องค์กรสนับสนุนการเงินและการรับประกันการส่งออกของออสเตรเลีย (EFIC) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเวียดนาม (VDB) โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นผู้สังเกตการณ์ถาวร มีศูนย์การส่งออกแห่งรัสเซีย (REC) และสำนักงานพัฒนาการส่งออกของแคนาดา (EDC) เป็นผู้สังเกตการณ์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือร่วมกันถึงแนวทางเสริมสร้างความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นำไปสู่การพัฒนาของเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน

"ผู้ที่ปรับตัวได้ทันในโลกยุคใหม่ย่อมมีความได้เปรียบ ขณะที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนาในอนาคต EXIM BANK จึงทำหน้าที่จัดการประชุมประจำปีของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชียในปีนี้ ด้วยความมุ่งหวังจะขยายเครือข่ายข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยและเอเชียให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย-แปซิฟิก" นายพิศิษฐ์กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายเลขานุการและสื่อสารองค์กร

โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1141, 1144

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม
๑๖:๒๖ SiteMinder เผย โรงแรมไทยเติบโต ก้าวเป็นผู้นำตลาด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ
๑๗:๕๙ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ
๑๖:๐๐ fintips by ttb เผยเคล็ดลับ รถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเราที่สุด
๑๖:๐๐ มาแล้ว! เปิดตัว Samsung Galaxy S25 ซีรีส์ใหม่ล่าสุด มาพร้อม Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย ตอบโจทย์รู้ใจทุกความต้องการเฉพาะคน
๑๖:๐๐ กทม. เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบเกษตรกร-แปรรูปสร้างรายได้
๑๖:๐๐ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนยิ่งใหญ่ Chinese Market 2025 ช้อปสินค้ามงคล เสริมดวงโชคดีมั่งมี
๑๖:๐๐ SNPS ต้อนรับ คณะผู้บริหารและนักวิจัยสภากาชาดไทย
๑๕:๒๔ BEST Supply Chain ยกระดับจัดการคลังสินค้ายุคใหม่ ชู BEST Fulfillment เพิ่มประสิทธิภาพจัดการสินค้า จบครบในที่เดียว
๑๕:๐๐ เด็กซ์ซอนผนึกกำลังภาคีเครือข่าย TCCA ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero