นายอภิชาติ แก้วกิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ เปิดเผยว่ ซีพีเอฟดำเนินโครงการ"ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" มาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าเขาพระยาเดินธง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี 5,971 ไร่ ภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการปลูกป่าใหม่แล้ว 2,200 ไร่ ดูแลบำรุงรักษาโดยการกำจัดเถาวัลย์ วัชพืช เฝ้าระวังไฟป่า รวม 3,771 ไร่ สร้างฝายชะลอน้ำทั้งฝายถาวรและฝายกึ่งถาวรมากกว่า 40 ฝาย โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ เครือข่ายพันธมิตร และจิตอาสาซีพีเอฟของโรงงานและฟาร์มต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จิตอาสาซีพีเอฟ 300 คน พร้อมทั้งชุมชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ร่วมกันทำแนวกันไฟที่มีขนาดความกว้างประมาณ 8 เมตร เป็นระยะทางกว่า 1,000 เมตร เพื่อเป็นแนวกีดขวาง หยุดยั้งไฟป่า และป้องกันไฟที่อาจลุกลามเข้าไปในบริเวณพื้นที่ป่าเขาพระยาเดินธงที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว โดยร่วมกันกำจัดเศษใบไม้ ใบหญ้า วัชพืช ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดไฟป่าได้ แนวกันไฟดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นเส้นทางตรวจการไฟป่าและเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า
ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ"ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" ภายใต้เสาหลักดิน น้ำ ป่าคงอยู่ โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่า มีรูปแบบต่างๆในการฟื้นฟูป่าที่ต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่และอัตราการรอดตายของกล้าไม้ ประกอบด้วย การปลูกแบบพิถีพิถัน ดำเนินการปลูกไปแล้ว 1,000 ไร่ การปลูกแบบเสริมป่า ดำเนินการปลูกไปแล้ว 1,200ไร่ และการส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ดำเนินการไปแล้ว 1,500 ไร่ ส่วนอีก 2,271 ไร่ เป็นการดูแลบำรุงรักษาโดยการกำจัดเถาวัลย์ วัชพืช และเฝ้าระวังไฟป่า นอกจากนี้ ได้มีการวางระบบน้ำหยดเพื่อให้ความชุ่มชื้นกับต้นไม้ในแปลงปลูกแบบพิถีพิถัน โดยใช้ถังขนาด 1,000 ลิตรเป็นที่พักน้ำ ทำให้ต้นไม้มีอัตราการรอดตายสูงถึง 90 %
"โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" เป็นความร่วมมือของกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) และซีพีเอฟ มีเป้าหมายร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้กับลุ่มน้ำป่าสัก ลดปริมาณตะกอนที่ไหลลงแม่น้ำลำธารและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเป็นโครงการที่มีผลในเชิงเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันทางจังหวัดลพบุรีได้ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดด้วย