พี่หาว-ต่อวงศ์ ซาลวาลา เล่าว่า "การถ่ายภาพในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับในสมัยก่อนที่ผ่านมา เพราะนวัตกรรมด้านการถ่ายภาพทำให้ทุกอย่างสะดวก รวดเร็ว การกดชัตเตอร์สามารถทำได้ทันทีหลังจากเปิดใช้งานกล้อง และหากไม่พอใจภาพไหนก็สามารถลบทิ้งได้ หรือใช้แอพพลิเคชั่นแต่งให้สวยงามขึ้นก็ทำได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่มองเพียงแค่ความสวยงามของรูปภาพ เพื่อใช้แชร์สำหรับเรียกยอดไลค์ในโลกโซเชียล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพ มีหัวใจสำคัญมากกว่านั้น คือ ภาพต้องสามารถเล่าเรื่องหรือสื่อสารถึงความหมายของภาพได้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นภาพถ่ายที่สมบูรณ์ ส่วนความสวยงามและองค์ประกอบต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่เสริมเข้ามาให้รูปภาพดูน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
ภายในงาน คุณหาวยังได้นำภาพถ่ายชุด "ชุมชนโมร็อคโค" มาบอกเล่าแนวทางการถ่ายภาพว่า "ถือเป็นอีกหนึ่งรูปภาพที่ประทับใจมากที่สุดตั้งแต่ได้จับกล้องมา เพราะในภาพไม่ได้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพอะไรที่ซับซ้อน แต่สามารถเล่าเรื่องราวของชุมชนแห่งนี้ได้อย่างครบถ้วนทั้ง รอยยิ้ม ความสุข ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ดังนั้น วิธีที่จะทำให้ภาพเล่าเรื่องราวดีๆ ได้ทั้งหมด ช่างภาพจำเป็นต้องให้เวลากับสิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อมองหาเรื่องราวดีๆ และเวลาที่เหมาะสมกับการกดชัตเตอร์"
ด้าน โฟล์ค - กำพลศักดิ์ สัสดี ผู้อยู่เบื้องหลังภาพแห่งความประทับใจภารกิจถ้ำหลวง เล่าถึงผลงานภาพถ่ายที่ประทับใจว่า "รูปภาพ "สำรวจปล่องถ้ำ" เป็นภาพที่ถ่ายไว้ตอนไปร่วมเป็นจิตอาสาปฏิบัติภารกิจค้นหาปล่องถ้ำต่างๆ ในหุบเขานางนอน ที่คาดว่าอาจจะเป็นทางเชื่อมต่อกับถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งในระหว่างภารกิจก็จะบันทึกภาพการทำงาน ระบบถ้ำ ชนิดของหิน และพื้นผิวในถ้ำจากในทุกปล่องถ้ำที่ลงไปสำรวจ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญนำส่งศูนย์บัญชาการชั่วคราวเพื่อได้ทราบถึงความคืบหน้า และประเมินแผนในส่วนอื่นๆจากภาพที่ได้
ที่รู้สึกชอบภาพนี้เพราะสามารถเล่าเรื่องสะท้อนการปฏิบัติภารกิจที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก อันตราย การทำงานเป็นทีม ต้องใช้ทักษะความชำนาญเฉพาะตัว และภาพยังซ่อนความรู้สึกถึงของความหวังและการรอคอย
และอีกภาพหนึ่งที่ประทับใจเช่นกัน คือ "โชคช่วย" เป็นภาพในระหว่างเหตุการณ์ได้ลงไปช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ประสบเหตุรถออฟโรดทีมกู้ภัยพลิกคว่ำตกเหวเพราะถนนทรุดพังขณะเดินทางกลับจากภารกิจสำรวจปล่องถ้ำที่ดอยผาหมี ซึ่งการช่วยเหลือเต็มไปด้วยความยากลำบากและอันตราย ด้วยความลาดชันของพื้นที่เกิดเหตุจึงต้องช่วยกันพยุงร่างเพื่อนผู้บาดเจ็บไว้ให้มั่นคงกับต้นไม้เล็กๆ ใกล้ตัวเพื่อรอการช่วยเหลือจากทีมสนับสนุน และหลังจากบันทึกภาพนี้ได้เพียงไม่กี่วินาที ก็ได้เกิดเหตุหินถล่มซ้ำลงมาโดนทีมช่วยเหลือจนได้รับบาดเจ็บอีกหลายคนขณะเอาตัวเองปกป้องผู้บาดเจ็บไว้ ภาพนี้จึงสะท้อนถึงการช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ การปกป้องการดูแล และการยอมเสียสละเพื่อผู้อื่น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาพที่ถ่ายออกมาเป็นรูปภาพธรรมดาที่ไม่มีเทคนิคการถ่ายอะไรเลย แต่สามารถบอกเล่าถึงเหตุการณ์ เรื่องราว และความรู้สึกต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งเทคนิคส่วนตัวที่จะให้ภาพเล่าเรื่องเช่นนี้ได้คือ เราอยากให้คนอื่นเห็นภาพที่เราเห็นอย่างไร ก็ให้รีบบันทึกภาพให้ทันเหตุการณ์ อย่าลังเลอย่ารอช่วงเวลา เพราะบางครั้งภาพที่สำคัญที่สุดคือภาพที่ถ่ายไว้ได้ในช่วงเสี้ยววินาที
ปิดท้ายด้วย ใหญ่-กฤดา เสพมงคลเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องดิจิทัลและอุปกรณ์การถ่ายภาพ เล่าว่า "สำหรับผลงานที่ประทับใจที่สุด มีสองภาพด้วยกันคือ ภาพถ่าย "น้ำตกโมโตะ" ที่เมืองอาคิตะ ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นภาพถ่ายที่สะท้อนเรื่องราวความเป็นเมืองอาคิตะได้อย่างลงตัว ทั้งความสวยงามของธรรมชาติ ความเงียบสงบ ความบริสุทธิ์ ส่วนภาพต่อมา คือ ภาพ "ม้าน้ำแคระ" ซึ่งหากมองภาพแบบผ่านๆ ก็คิดว่าเป็นแค่รูปภาพปะการังสีแดงธรรมดา แต่ถ้ามองลึกลงไปจะเห็นม้าน้ำตัวเล็กอาศัยอยู่ ด้วยการพรางตัวเพื่อให้เกิดความกลมกลืน สามารถซ่อนตัวจากอันตรายได้
โดยเคล็ดลับการถ่ายภาพทั้ง 2 ผลงาน ให้ออกมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ คือ ต้องปล่อยให้สิ่งรอบตัวได้เล่าเรื่องราวของตัวเขาเองก่อน แล้วเราค่อยๆ ศึกษาให้รู้ว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเหล่านี้กำลังจะสื่อสารอะไร เพื่อที่จะได้เก็บเรื่องราวเหล่านั้นลงบนภาพถ่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบและสวยงาม"
สำหรับใครที่กำลังมองหามุมมองไอเดียหรืออินสไปร์ในการถ่ายภาพ สามารถแวะเวียนมาได้ที่ "โอลิมปัส สโตร์ บาย บิ๊ก คาเมร่า" (OLYMPUS Store by BIG CAMERA) ชั้น 4 โซนทางเข้า ZEN ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมร่วมชมผลงานภาพถ่ายที่โซนแกลลอรี่ (Gallery Zone) โดยในแต่ละเดือนจะมีการนำผลงานจากช่างภาพที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงผลงานของกลุ่มลูกค้าโอลิมปัสมาจัดแสดงอยู่ภายในโซนนี้ และมาร่วมอัพเดตนวัตกรรมและเทรนด์ต่างๆ สำหรับการถ่ายภาพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร 02-252-6975 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : Olympus Thailand