จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวแห้งตาย ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง เกษตรกรบางรายไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จึงคาดว่าปริมาณข้าวหอมมะลิปีเพาะปลูก 2561/62 จะลดลง สวนทางกับราคาข้าวที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาข้าวที่สูงในขณะนี้อาจทำให้เกิดปัญหาการปลอมปนข้าวโดยนำข้าวสายพันธุ์อื่นมาผสมกับข้าวหอมมะลิ อาจทำให้คุณภาพของข้าวลดลงจึงขอให้เกษตรกรดูแลคุณภาพผลผลิตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปลอมปนข้าวในพื้นที่ นอกจากนี้ขอให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยมีพฤติกรรมในการชักจูงว่าจะรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าท้องตลาด แล้วจ่ายเงินเพียงบางส่วนหรือจ่ายเงินเชื่อ อาจทำให้ถูกฉ้อโกงได้ ดังนั้น เกษตรกรที่จะขายข้าวเปลือกโปรดตรวจสอบราคา รับซื้อข้าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สายด่วน 1569 ก่อนตัดสินใจขาย
ด้านราคาข้าว พบว่า ตั้งแต่ มกราคม - พฤศจิกายน 2561 ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ยตันละ 15,105 บาท และข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% เฉลี่ยตันละ 7,716 บาท สูงขึ้นจากของช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 48.29 และ ร้อยละ 0.27 ตามลำดับ เนื่องจากข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตข้าวหอมมะลิ ปี 2561 ประสบปัญหาภัยแล้งในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/62 ภาครัฐได้ดำเนินการ 2 ด้าน รวม 10 โครงการ ได้แก่ ด้านการผลิต จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) 2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 3) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง 4) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) 5) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ 6) โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวพันธุ์ กข 43 เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร 7) โครงการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง และด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ซึ่งผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีตามที่ตั้งแปลง ปี 2561/62 (ช่วงปลูกของแต่ละจังหวัดตามกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2561 ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561) มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งประเทศ จำนวน 4.229 ล้านครัวเรือน พื้นที่รวม 57.820 ล้านไร่ โดยมีรายชื่อเกษตรกรที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว จำนวน 4.058 ล้านครัวเรือน พื้นที่รวม 54.969 ล้านไร่ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งข้อมูลรายชื่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 ให้แก่ ธ.ก.ส. ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ทยอยโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรแล้ว