“ปะการังเทียมจากเถ้าถ่านหินช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลภาคใต้ได้อย่างไร”

อังคาร ๒๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๖:๓๙
ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,148.23 กิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด โดยชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มีความยาว 2,055.18 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน มีความยาว 1,093.14 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลรวม 6 จังหวัด กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชุมชนและทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลสูญหายอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรชายฝั่งอย่างประเมินค่ามิได้ จัดเป็นภัยพิบัติที่จะต้องหามาตรการป้องกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน

กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจโดยตรงในการศึกษา สำรวจและรวบรวมข้อมูล เพื่อป้องกันแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทางกรมฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ โดยแนวความคิดของการวิจัยได้จากการสังเกตหาดทรายที่มีแนวปะการังธรรมชาติ พบว่าพื้นที่เหล่านี้ประสบปัญหาน้อยมาก เนื่องจากแนวปะการังจะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติที่สามารถช่วยชะลอความแรงของคลื่นได้เป็นอย่างดี จึงได้นำหลักการ "แนวปะการังเทียมกันคลื่น" มาเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และไม่บดบังภูมิทัศน์การท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ สมาร์ท โปรเจค (SMART Project) โดย สมาร์ท โปรเจค เฟส 1 เริ่มตั้งแต่ปี 2549 โดยได้ศึกษาพื้นที่หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา และเฟส 2 ในปี 2552 ได้ศึกษาพื้นที่ชายฝั่งระยอง-จันทบุรี โดยทั้ง 2 เฟส เป็นการวิจัยถึงรูปแบบ รูปทรง และขนาดของแท่งปะการังเทียม พร้อมทั้งผังการจัดวางด้วยแบบจำลองทางกายภาพในรางจำลองคลื่น และด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ปะการังเทียมที่สามารถสลายพลังงานคลื่นได้สูงสุดและเอื้อต่อการเข้ามาอาศัยของสัตว์ทะเล

ต่อมาในปี 2556 ได้มีการดำเนินงาน สมาร์ท โปรเจค เฟส 3 ชื่อโครงการ "การศึกษาและทดลองประยุกต์ใช้ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ-สิรินธร" ซึ่งเป็นการทดลองเชิงประจักษ์ (Real Experiment Research) ภายใต้การสนับสนุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้วางในพื้นที่ชายฝั่งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการใช้แนวปะการังเทียมใต้น้ำ (Submerged Artificial Reef Training - SMART) จัดเรียงเป็นเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำอยู่นอกฝั่ง จำนวน 254 แท่ง โดยวางเรียงจำนวน 5 แถว เป็นแนวยาวแถวละ 100 เมตร ที่ระดับความลึกน้ำ 3 เมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 400 เมตร ทำหน้าที่สลายพลังงานคลื่นก่อนเคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและยังช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่กำลังเสื่อมโทรม แนวปะการังเทียมกันคลื่นใต้น้ำประกอบด้วยแท่งปะการังเทียม (SMART Units) หลายก้อน จึงต้องใช้คอนกรีตจำนวนมาก ทั้งนี้คอนกรีตจะต้องมีความแข็งแรงและทนทานต่อสภาวะต่อการใช้งานในน้ำทะเลที่มีการกัดกร่อนจากซัลเฟตสูง

เถ้าลอยลิกไนต์ (Lignite Fly Ash) ที่เหลือจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ แต่ละปีมีมากถึงประมาณ 3 ล้านตัน เถ้าลอยมีองค์ประกอบหลักเป็นซิลิกอนไดออกไซด์และมีอนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษในการนำมาเป็นส่วนผสมของคอนกรีต จากรายงานการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา (เช่น Kress et al., 2002; Lam, 2003; Kress et al. 1993; Sampaolo และ Relini, 1994) พบว่าการนำเถ้าลอยในอัตราส่วนร้อยละ 30 มาเป็นส่วนผสมในซีเมนต์จะทำให้คอนกรีตมีความคงทน มีคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อนจากซัลเฟตได้เป็นอย่างดี คณะผู้วิจัยจึงมีแนวความคิดในการนำเถ้าลอยมาเป็นส่วนผสมของคอนกรีตเพื่อผลิตแท่งปะการังเทียมกันคลื่น เรียกว่า "ปะการังเทียมผสมเถ้าลอย" (Fly Ash SMART) โดยทำการศึกษาด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนิเวศทางทะเล ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเถ้าลอยมาใช้ประโยชน์ในวงการคอนกรีตที่กว้างขึ้น

การทดสอบปะการังเทียมผสมเถ้าลอย

ก่อนดำเนินการวางปะการังเทียมลงในทะเล คณะผู้วิจัยได้ศึกษาผลของปะการังเทียมผสมเถ้าลอยในด้านต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

1) การทดลองด้านพลศาสตร์ของแท่งปะการังเทียมต่อแรงกระทำของคลื่น จะทำการทดลองในรางจำลองคลื่น เพื่อศึกษาด้านเสถียรภาพและการกรองคลื่น

2) การทดลองด้านการแพร่กระจายของโลหะหนัก โดยนำแท่งปะการังเทียมมาบดแล้วนำไปแช่น้ำในตู้ทดลอง จากนั้นจะเก็บน้ำตัวอย่างมาตรวจสอบโลหะหนักที่เวลาต่าง ๆ

3) การทดลองผลกระทบต่อสัตว์น้ำ โดยนำสัตว์น้ำมาทดลองในตู้ทดลองที่มีแท่งปะการังเทียม ศึกษาอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการอยู่รอด พร้อมกับตรวจวัดคุณภาพน้ำในช่วงเวลาต่าง ๆ

ผลกระทบจากปะการังเทียมผสมเถ้าลอย สรุปผลการทดลองได้ดังนี้

1) น้ำทะเลที่นำมาใช้ในการทดลองมีโลหะหนัก บางตัวปนเปื้อนอยู่แล้ว เช่น Zn, Cu, Cr และ Hg โดยค่าทุกตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ยกเว้น Hg ซึ่งมีค่าสูงถึงประมาณ 0.40 ug/L (Std < 0.1 ug/L)

2) ในคอนกรีตทั่วไปพบว่ามีโลหะหนักบางตัวผสมอยู่แล้ว เช่น Zn, Cu, Cr, Mn, Ni และ Hg แต่มีค่าทุกตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

3) ในเถ้าลอยมีโลหะหนัก บางตัวเป็นองค์ประกอบ Cr, Cd, Pb, Mn, Zn, Cu, Ni, As, Hg ยกเว้น Se โดยภาพรวมพบว่า เถ้าลอยจากแม่เมาะมีปริมาณโลหะหนักแทบทุกตัวสูงกว่าเถ้าลอยจากออสเตรเลีย ยกเว้น Pb และ Hg

4) แม้ในเถ้าลอยจะมีโลหะหนักบางตัวเป็นองค์ประกอบ แต่พบว่าคอนกรีตผสมเถ้าลอยกลับดูดซับโลหะหนักในน้ำทะเลได้ดีกว่าคอนกรีตทั่วไป จึงทำให้ปริมาณโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำทะเลน้อยลง

5) ผลการศึกษาวิจัยยืนยันว่า การใช้เถ้าลอยลิกไนต์ผสมในคอนกรีต ไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อคุณภาพน้ำ (เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำประเภทที่ 3: น้ำทะเลชายฝั่งสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)

ชุดการทดลองศึกษาการเจริญเติบโตของปลาและการสะสมโลหะหนัก

การตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักที่สะสมในปลา พบโลหะหนักบางชนิด ได้แก่ แคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) และนิกเกิล (Ni) โดยทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (2529) และยังพบว่าปลาที่นำมาทดลองมีการสะสมของโลหะหนักอยู่แล้วด้วย

ผลการทดลองโดยสรุปดังนี้

1) ด้านประสิทธิภาพสลายพลังงานคลื่น พบว่าโดมทะเลสามารถสลายพลังงานคลื่นได้เฉลี่ย 37.4% ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุดเฉลี่ยและเฉลี่ย 78.6% ในช่วงน้ำลงต่ำสุดเฉลี่ย

2) ด้านการเปลี่ยนแปลงตะกอนชายฝั่ง พบว่าหลังการวางโดมทะเล แนวยาว 100 เมตร ครบรอบ 1 ปี ทำให้มีปริมาณตะกอนทับถมเฉลี่ย 17.08 เมตร เป็นแนวยาว 285 เมตร มีพื้นที่หาดทรายเพิ่มขึ้น 4,867 ตร.ม. (3.04 ไร่)

3) หลังการใช้งานครบรอบ 1 ปี พบว่าโครงสร้างยังอยู่ในสภาพดี มีเสถียรภาพดี เนื้อคอนกรีต ไม่พบร่องรอยการกัดกร่อน ที่ทำให้โดมทะเลได้รับความเสียหาย

เมื่อการศึกษาและทดลองประยุกต์ใช้ปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ จึงนำไปสู่การขยายผลโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากนำไปวางเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้วยังมีการนำไปจัดวางบริเวณน้ำลึกโดยมีวัตถุประสงค์การวางเพื่อฟื้นฟูแนวปะการัง การวางเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรประมง และการวางเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version