นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า เทศกาลข้าวหอมมะลิโลกครั้งที่ 19 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรมเพชรรัตน์การ์เด้นร้อยเอ็ด จะจัดให้มีการแสดงสินค้าและนิทรรศการ Rice Expo 2018 เพื่อยกระดับการจัดงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ซึ่งความพิเศษในปีนี้ Alibaba (อาลีบาบา) เว็บไซต์ขายส่งออนไลน์มาร่วมออกบูธในงานด้วย สอดรับกับการสร้างสถานีการค้า 101 ร่วมกับศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และการท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นโครงการนำร่องจุดกึ่งกลางของภาคอีสานในการส่งออกข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ นอกจากนี้ยังมีการเสวนาวิชาการ การเจรจาการค้าและลงนามบันทึกข้อตกลง การประกวดแข่งขัน แสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล มีการสาธิตและฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงของศิลปินคืนถิ่น โดยคาดว่าตลอดทั้ง 3 วันของงาน จะมีมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายวันชัย กล่าวต่อไปว่า แนวคิดในการจัดงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลกครั้งที่ 19 คือ "การตลาดและนวัตกรรมนำการผลิต" เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของจังหวัดร้อยเอ็ดในการเป็นเมืองหลวงข้าวหอมมะลิโลก และยังแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยนวัตกรรมในการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตด้วยการแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งอาหารและเวชสำอาง อันจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดมั่นคงยิ่งขึ้น
ทางด้าน นายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ในรอบการผลิตที่ผ่านมา พบว่าตลาดข้าวหอมมะลิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท มีพื้นที่ปลูกประมาณ 26 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 9-10 ล้านตันต่อปี คาดว่าในปีนี้ตลาดจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันยกระดับผลผลิตข้าวหอมมะลิให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต อย่างการนำข้าวหอมมะลิเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดร้อยเอ็ดก็มีโครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร จนเกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวหอมมะลิแล้วถึง 10 ผลิตภัณฑ์ด้วยกัน อาทิ พาวเวอร์ บาร์, แป้งเค้กกึ่งสำเร็จรูป, ไรซ์แครกเกอร์, เครื่องดื่มจากใบข้าว เป็นต้น
"เราต้องยกระดับข้าวหอมมะลิ จากผลผลิตชุมชน สร้างให้เป็นไลฟ์ สไตล์ โปรดักท์ (Lifestyle Products) โดยการนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตของเราอย่างมหาศาล เราขอไม่มาก แค่ 2 เท่าของมูลค่าตลาดปัจจุบันก็พอ" นายสมเกียรติ กล่าวและเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ จะต้องปรับกระบวนการทางการตลาดข้าวหอมมะลิใหม่ ต้องเป็นการตลาดสมัยใหม่ที่เพิ่มกำลังต่อรองให้กับเกษตรกรโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอีก แบบ Farm to Customer หรือจากท้องทุ่งสู่ห้องครัวโดยตรง