กระทรวงวิทย์ฯ บุกสยามสแควร์! จัดงานสุดยิ่งใหญ่อลังการ “ขับเคลื่อน THAILAND 4.0 ด้วย วทน.”

ศุกร์ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๖:๐๗
กระทรวงวิทย์ฯ บุกสยามสแควร์! จัดงานสุดยิ่งใหญ่อลังการ "ขับเคลื่อน THAILAND 4.0 ด้วย วทน." ขนทัพนิทรรศการ โชว์ผลงานนำไทยสู่อนาคต "สมคิด" มั่นใจ ปี 61 สัดส่วนเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาพุ่งโตทะลุ 1%

เริ่มแล้ว!! งานสุดอลังการ "ขับเคลื่อน THAILAND 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม : THAILAND 4.0 IN THE MAKING" ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2561 เพื่อแสดงผลงานในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมด้วยวิทยาศาสตร์ฯ ใน 4 ด้าน "สร้างคน แก้จน เสริมแกร่ง สู่ภูมิภาค" หวังกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มภาคภูมิ ตอกย้ำจุดยืนรัฐบาลใช้นวัตกรรมพลิกโฉมประเทศ ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ได้กล่าวว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ พาชาติก้าวข้ามกับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อนำไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

หากสังเกตจะพบว่าในประเทศที่มีรายได้สูงนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น อิสราเอล หรือแม้กระทั่งเกาหลีใต้ ที่เมื่อก่อนเคยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศของเรา ก็พัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และล่าสุด ประเทศจีน ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าราคาถูก ไม่มีคุณภาพ ปัจจุบันกลายเป็นประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีไปแล้ว ประเทศไทยก็จะต้องก้าวไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งเรากำลังเดินก้าวไปข้างหน้า เห็นได้จากตัวชี้วัดสำคัญ คือสัดส่วนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของไทยที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือช่วงระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2544-2554 เพิ่มขึ้น เพียง 0.1% จาก 0.26% เป็น 0.37% แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2556-2559 มีการเติบโต เพิ่มขึ้น 0.4% จาก 0.47% ในปี 2556 เป็น 0.78% ในปี 2559 คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 113,527 ล้านบาท และตั้งเป้าไว้ว่าจะทะลุ 1% ในปี 2561

รองนายกฯ กล่าวย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยต้องทำให้คนไทยทุกคนเข้าใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยจะต้องรู้ว่าวิทยาศาสตร์สำคัญกับชีวิตพวกเค้า เห็นความจำเป็นในการเรียน STEM เพราะ STEM จะเป็นพื้นฐานของอาชีพในอนาคต คนรุ่นใหม่จะต้องเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ รวมทั้งจะต้องมีทักษะฝีมือในการลงมือทำ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันนั้น แข่งขันกันที่ความคิดและการใช้ทักษะและเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากการสร้างความสามารถในการแข่งขันแล้ว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นจะต้องช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในสังคมทุกระดับและทุกพื้นที่ในประเทศ ให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งกลุ่มพี่น้องเกษตรกรและคนทั่วไปในสังคม โดยจะต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปช่วยเหลือคนในทุกระดับ และทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเค้า และจะสร้างประโยชน์กับชีวิตพวกเค้าได้ เช่น เกษตรกรจะต้องนำเทคโนโลยีไปใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิต คาดการณ์ราคาผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนการผลิตได้

จากโจทย์ทั้ง 2 เรื่องที่ผมได้กล่าวมานี้ รัฐบาลจึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ใน 13 ภารกิจสำคัญ ด้วยการ 1)สร้างกลุ่มนักรับเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Startup และนักประดิษฐ์ (Maker) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบายสร้างประเทศสู่การเป็น Startup Nation และ Makers Nation 2)เตรียมคนไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนเพื่อให้เห็นภาพของอาชีพในอนาคต (Career for the Future) 3)การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพและคนทั้งประเทศได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง 4)การพัฒนาเทคโนโลยีรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การสร้างระบบ Big Data และ AI การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ เช่น ดาวเทียม THEOS เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนชุดใหม่ เป็นต้น และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาของประเทศไทยในที่สุด 5)การยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจาย ความเจริญสู่พื้นที่ต่างๆ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์มาสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศ การพัฒนา Smart Farmer ด้วยระบบ IoT การพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation Districts) 16 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น ย่าน CyberTech ที่ปุณณวิถี ย่านนวัตกรรมการแพทย์ที่โยธี เป็นต้น การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park) และการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)

ในวันนี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำผลงานมาแสดงให้ทุกคนเห็นว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างแน่นอน ผมเชื่อว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นเวทีเผยแพร่นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้าง เกิดการพัฒนาภูมิปัญญาโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สามารถสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างเงิน สร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่สูงขึ้น

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่าการจัดงานในครั้งนี้เพื่อแสดงผลงานในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม โดยนำเสนอนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยการจัดแสดงผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย 4 โซนนิทรรศการหลัก ได้แก่ โซนวิทย์สร้างคน โซนวิทย์แก้จน โซนวิทย์เสริมแกร่ง และโซนวิทย์สู่ภูมิภาค ซึ่งพื้นที่ 4 โซนนี้ ได้นำเสนอผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 13 ด้านสำคัญ และไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด! ได้แก่ TREE of WISDOM ต้นไม้ interactive แห่งอนาคต ครั้งแรกกับการเชื่อมต่อความคิดและอารมณ์ให้กลายเป็นภาพและสีที่จับต้องได้ ซึ่งเชื่อม Neuro Sensing คลื่นสมองออกมาแสดงผลเป็นการเปลี่ยนสีสันของต้นไม้ LED ขนาดใหญ่ สุดตระการตา ทำให้บริเวณลาน slope SQ1, FreakLab ผลงาน interactive ที่ผสาน Science & Arts และ digital technology ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งจะกระจายอยู่ทั่วทั้งงาน, INSECT WORLD โลกแห่งแมลง อยู่บริเวณสวน Park @Siam, Thai Space Consortium: โครงการความร่วมมือ "ดาวเทียมไทย" สู่ห้วงอวกาศ บริเวณลาน Hard Rock Cafe และ Robot Contest โดยสมาคม TRS บริเวณสวน Park @Siam ซึ่งนอกจากผลงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง 13 กลุ่มแล้วนั้น ยังมีการนำเสนอผลงานของหน่วยงานพันธมิตร สถาบันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และบริษัทชั้นนำของประเทศอีกมากมายที่นำผลงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแสดงในงานครั้งนี้ รวมทั้งมีกิจกรรมบันเทิงอีกมากมายตลอดการจัดงาน อาทิ การประชันแร็พของสองแร็พเปอร์ชื่อดัง SIRPOPPA และ NANA, มินิคอนเสิร์ตจากเก้า จิรายุและวงแม่ยายยิ้ม, การพูดคุยถึงไลฟ์สไตล์ในยุค 4.0 กับสองนักแสดงดัง สน-ยุกต์ ส่งไพศาลและ เอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา, การแสดง Science Show, การแสดงดนตรีจากนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำ, Street Show เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ