นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราของรัฐบาล ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย เช่น การดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาตลอด โดยปี 2561 ได้นำยางพารามาทำถนน ใช้น้ำยางข้น 9,952.41 ตัน คิดเป็นน้ำยางสด 19,904.82 ตัน และยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานอีก 37,829.12 ตัน คิดเป็นน้ำยางสดทั้งหมด 75,658.24 ตัน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเปิดรับให้บริษัทรายใหญ่เข้ามาลงทุนทำผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งมีบริษัทยางล้อจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว เช่น บริษัทเซนจูรี่ ไทร์ และ บริษัทดับเบิ้ลคอยน์ เป็นต้น
นายเยี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การแก้ปัญหายางพาราในระยะยาวสำเร็จ นอกเหนือจากการที่รัฐบาลกำหนดมาตรการต่างๆ อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างทั่วถึง เกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องรักษาระดับและพัฒนามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ รวมถึงผู้ประกอบกิจการยาง ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยการสนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการยางพาราไทย ส่วนข่าวที่จะให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยางนั้น กยท. ยังไม่ได้รับนโยบายที่จะให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยางแต่ประการใด