สำหรับการวางกรอบแนวทางในการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในห้องทดลองและทดสอบภาคสนามนั้น คณะทำงานได้ประชุมหารือเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยกระทรวงฯ จะทดสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับแอปพลิเคชันในด้านต่าง ๆ โดยจะทดสอบในพื้นที่ EEC ส่วนกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะอำนวยความสะดวกและพิจารณาย่านความถี่มาใช้ในการทดสอบ โดยน่าจะเป็นคลื่นความถี่ตั้งแต่ 3300-4200 เมกกะเฮิรตซ์ และ 24,000-29,000 เมกกะเฮิรตซ์ หรือ 24-29 กิกะเฮิรตซ์ สำหรับการทำงานของคณะทำงานเตรียมการ 5G ยังทำงานร่วมกับสมาชิกที่มาจากหน่วยงานราชการ เช่น มหาวิทยาลัย กสทช. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ 5G alliance
"หากมองไปข้างหน้าในปี 2562 เรียกได้ว่าจะเป็นปีแห่งการทดสอบระบบ ซึ่งจะทำขนานไปกับการประสานงานในการขอคลื่นความถี่ให้เรียบร้อย เพื่อที่ว่าเมื่อมาตรฐาน 5G มีความพร้อมสมบูรณ์เมื่อไร การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้วก็เชิงสังคม ก็จะเกิดขึ้นได้ประสิทธิภาพ และเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันที ในอนาคตเมื่อมีการทำสอบระบบ 5G แล้ว ก็จะทำให้พื้นที่ EEC กลายเป็นพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ 5G อย่างกว้างขวาง จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ เกิดแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่จากอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินไปพร้อมกับการเกิดโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายในพื้นที่ที่กำลังจะพัฒนาเกิดขึ้น อาทิ สนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรือ 2 ท่าเรือ, รถไฟความเร็วสูงเป็นต้น" ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า ในฐานะผู้ดำเนินโครงการสถาบันไอโอที และเลขานุการร่วมคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพด้าน Digital เพื่อ EEC หรือ EEC Digital Academy Thailand (DAT) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล สำหรับเขต EEC โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม AI เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรม new S-curve ในการใช้เทคโนโลยีด้าน AI และ Data Sciences อันจะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงอื่น ๆ เช่น IoT, Robotics และเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล อันจะนำไปสู่การยกระดับแรงงานในพื้นที่ EEC โดยการฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อปรับทักษะ ในหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยโครงการนี้ดีป้าสนับสนุนผ่านมาตรการ Infra Fund 50,000,000 บาท มีระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดทำ และนำเสนอเอกสารโครงการต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณาคัดกรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2561 และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2561 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้อนุมัติโครงการดังกล่าวแล้ว และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาและเริ่มดำเนินโครงการได้ภายในเดือนธันวาคม 2561