นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น "Priceza" เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งของประเทศ กล่าวว่า การจัดงาน Priceza E-Commerce Trends ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยติดอาวุธ เพิ่มองค์ความรู้ทั้งร้านค้าและมาร์เก็ตเพลสทุกระดับให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน เสมือนสื่อกลางที่ช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Ecosystem) ทุกภาคส่วน โดยการจัดงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "The Infinity of E-Commerce Wars 2019" เพื่อช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องพร้อมรับมือการแข่งขันที่ไม่มีที่สิ้นสุดในปี 2562
"จำนวนสินค้าที่รวบรวมไว้บนเว็บไซต์ของเราในปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 51 ล้านรายการ จาก 28 ล้านรายการในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากใช้เวลาดูสินค้าบนเว็บเราทุกชิ้น ชิ้นละ 5 วินาที จะต้องใช้เวลาดูถึง 8 ปี เรายังมีเครือข่ายพันธมิตรทั้งร้านค้า มาร์เก็ตเพลส แบรนด์สินค้า ช่องทางอีเพย์เมนท์ต่างๆ จำนวนมาก ในฐานะแพลทฟอร์มกลางที่มีข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ เราจึงต้องการที่จะช่วยย่อยและแบ่งปันข้อมูล เพื่อให้ทุกคนเติบโตไปพร้อมกัน ด้วยการนำความรู้และข้อมูลที่ได้จากงานไปใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจในปีหน้า" นายธนาวัฒน์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซปี 2562 นั้น มีเรื่องหลักที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์ 2.การค้าขายบน E-Marketplace จะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายมากขึ้น 3.การจ่ายเงินชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางอิเล็คทรอนิกส์จะเติบโตแบบก้าวกระโดด 4.การค้าหลากหลายช่องทาง (Omni Channel) จะมีบทบาทมากขึ้น
นายธนาวัฒน์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2561 นั้น ถือว่าเติบโตอย่างน่าสนใจ เนื่องจากมีมาร์เก็ตเพลสรายใหม่จากต่างประเทศหลายรายเข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการ และมีสินค้ากลุ่มข้ามพรมแดน (Cross Border) เข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าว ก็ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซปีนี้ดุเดือดมากขึ้นด้วย
สำหรับสถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2562 นั้น ยังคงมีปัจจัยบวกและสัญญาณที่ดี เช่น การเติบโตและปรับตัวของช่องทางฟินเทคและอีเพย์เมนต์ต่างๆ แคมเปญโปรโมชั่นของผู้เล่นในตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มนิยมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
ทั้งนี้ แผนธุรกิจในปี 2562 ของไพรซ์ซ่า จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นของไพรซ์ซ่า 2.ไพรซ์ซ่า มันนี่ (Priceza Money) ช่องทางการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต 3.กลุ่มธุรกิจ PSPN เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยบริษัทจะจับมือกับพันธมิตรร่วมกันดำเนินธุรกิจ โดยเสริมจุดแกร่งของกันและกัน คาดว่าจะเปิดตัวพันธมิตรรายแรกได้ในช่วงไตรมาส 1/2562
"ในปีนี้เราเห็นสัญญาณเติบโตที่ชัดเจนในกลุ่มไพรซ์ซ่า มันนี่ โดยมีรายได้เติบโตขึ้นจากปี 2561 ถึง 3 เท่า ในปี 2562 กลุ่มธุรกิจนี้จะครอบคลุมสถาบันการเงินมากขึ้น และครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายประเภทขึ้น เช่น มีบริการเปรียบเทียบประกันการเดินทาง คาดว่ากลุ่มธุรกิจนี้จะเติบโตขึ้นได้อีกประมาณ 2 เท่าตัว" นายธนาวัฒน์ กล่าว
นายธนาวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเชิงลึก (Insights) ของไพรซ์ซ่าในปีนี้ ยังพบว่า สถานการณ์ยอดซื้อต่อตะกร้า (Average Basket Size) บนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 12 พ.ย.2561 อยู่ที่ 1,469 บาทต่อตะกร้า โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถและยานพาหนะ ตามลำดับ
การจัดงาน Priceza E-Commerce Trends ในครั้งแรกนี้ (28 พ.ย.61) แบ่งหัวข้อสัมมนาออกเป็น 3 หัวข้อสุดเข้มข้นที่กำลังมีอิทธิพลกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ 1.Social Media and E-commerce 2.การปรับตัวของร้านค้าในมาร์เก็ตเพลส 3.ครองใจนักช้อปออนไลน์ในแต่ละแพลทฟอร์ม โดยมีวิทยากรจากองค์กรยักษ์ใหญ่ในแวดวงอีคอมเมิร์ซ อาทิ คุณศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ ประเทศไทย คุณบูม หมู่สิริเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล คุณนิธิมนต์ สุธาวิวัฒน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจออนไลน์ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด คุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย คุณสุพัชเชษฐ์ เภาวะนิต Vice President, Seller Operations ลาซาด้า ประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมฟังในงานมากกว่า 200 คน ณ Hard Rock Cafe สยามสแควร์ ซอย 11
บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยนายธนาวัฒน์ และกลุ่มเพื่อนสมัยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 3 คน เนื่องจากมองเห็นอนาคตในการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จึงใช้ความรู้ที่เรียนมาพัฒนาเครื่องมือค้นหาสินค้า การบริการเปรียบเทียบข้อมูลและราคาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ ปัจจุบัน เปิดให้บริการทั้งรูปแบบเว็บไซต์ www.priceza.com และแอปพลิเคชันใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีฟังก์ชันต่างๆ ให้ใช้บริการได้หลากหลาย ทั้งการเปรียบเทียบราคาสินค้าชนิดเดียวกันจากร้านค้าและมาร์เก็ตเพลสเจ้าต่างๆ การเปรียบเทียบช่องทางการชำระเงิน การดูข้อมูลของร้านที่ได้รับการรับประกันคุณภาพ