มรภ. สงขลา นำทีมมหา’ลัยเครือข่าย ร่วมพัฒนาระบบการสอน ร.ร. ตชด.

พุธ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๑๖:๒๖
มรภ.สงขลา ผนึกมหาวิทยาลัยเครือข่าย ม.ทักษิณ มทร.ศรีวิชัย มอ. ม. หาดใหญ่ ร่วมพัฒนาระบบการเรียนการสอน ร.ร. ตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งเป้าเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สร้างโอกาสทางการศึกษา

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนพัฒนาชาติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีพระราชประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านและโรงเรียนในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จ.สงขลา จึงมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ร.ร.ตชด.) และชุมชนโดยรอบ โดยให้มหาวิทยาลัย 5 แห่งคือ มรภ.สงขลา ม.ทักษิณ มอ. มทร.ศรีวิชัย และ ม.หาดใหญ่ เป็นหน่วยงานพัฒนาระบบการเรียนการสอนของ ร.ร.ตชด. ใน จ.สงขลา

ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2559 นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา (ในขณะนั้น) มีแนวคิดให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมพลังเป็นเครือข่ายในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แก่ ร.ร.ตชด. ใน จ.สงขลา รวม 10 แห่ง คือ ร.ร.ตชด. บ้านทุ่งสบายใจ ร.ร.ตชด.บ้านบาโรย ร.ร.ตชด.สื่อมวลชนกีฬา ร.ร.ตชด.บ้านชายควน อ.สะเดา ร.ร.ตชด. บ้านประกอบออก ร.ร.ตชด.เชิญ พิศลยบุตร อ.นาทวี ร.ร.ตชด.พลเอกนวล-คุณหญิงบานชื่น จันทร์ตรี ร.ร.ตชด.บ้านหาดทราย ร.ร.ตชด.บ้านสำนักเอาะ และ ร.ร.ตชด.มหาราช 1 อ.สะบ้าย้อย ในปีงบประมาณ 2560 คณะทำงานเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัย จึงดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ร.ร.ตชด. โดยจัดอบรม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย สุขศึกษาและพลศึกษา ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้แก่ครูในโรงเรียนดังกล่าว

ด้าน ดร.มนตรี เด่นดวง คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า ทางคณะทำงาน 5 เครือข่ายมหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการนิเทศติดตามครู ร.ร.ตชด. ทั้ง 10 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก จ.สงขลา ในการติดตามผลการอบรมว่าครูที่เข้าอบรมนำความรู้และทักษะการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดทำสื่อต่างๆ ไปใช้สู่ชั้นเรียนได้อย่างไร ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และความต้องการของครูผู้สอน โดย มรภ.สงขลา รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สุขศึกษาและพลศึกษา ม.ทักษิณ รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) และวิทยาศาสตร์ มอ. รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ม.หาดใหญ่ รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

ดร.มนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการนิเทศตามพบว่าจุดแข็งคือครูให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมและมีความรับผิดชอบในอาชีพครู แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้จบตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สอน แต่ก็มีความใฝ่รู้ ศึกษาหาวิธีการสอนและทำสื่อการสอน ทั้งยังมีความอดทน ตั้งใจ และมีวินัย สามารถเขียนแผนการเรียนรู้โดยกำหนดกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สำคัญ (ความคิดรวบยอด) ได้ถูกต้องและครอบคลุม นอกจากนั้น ยังสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนมีส่วนร่วมตลอดเวลา โดยกระตุ้นให้คิดและรู้จักกระบวนการคิด มีกิจกรรมกลุ่มให้ฝึกการเรียนรู้และทำงานร่วมกัน นักเรียนเรียนอย่างสนุกและมีความสุข ส่วนนักเรียนก็มีสัมมาคารวะ และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมของโรงเรียนเป็นอย่างดี

สำหรับจุดที่ควรพัฒนาคือ มีครูไม่เพียงพอต่อการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ จึงทำให้ครูที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ต้องรับผิดชอบสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย รับผิดชอบสอนคนละ 2-3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูมีการโยกย้ายประจำทุกปีทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง และไม่ได้นำผลการอบรมไปใช้ ครูบางคนไม่ได้สำเร็จการศึกษาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาที่สอนโดยตรง ทำให้ขาดทักษะการถ่ายทอดเนื้อหากลุ่มสาระการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียน และต้องรับผิดชอบสอนหลายวิชาและรับภาระหน้าที่อื่นนอกเหนือจากการสอน เช่น ดูแลรับผิดชอบอาคารสถานที่ งานก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น

"นักเรียนจำนวนหนึ่งอ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนไม่ค่อยได้ ทั้งระดับประถมศึกษาต้อนต้นและตอนปลาย ทั้งยังขาดเรียนหรือย้ายถิ่นฐานบ่อย เพราะต้องย้ายตามผู้ปกครอง บางคนไม่มีเวลาทบทวนหรือทำการบ้านวิชาที่เรียนตามหลักสูตรของ ร.ร.ตชด. เนื่องจากมีภารกิจวันเสาร์อาทิตย์ต้องเรียนหนังสือที่โรงเรียนสอนศาสนา ในขณะที่บางคนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ครูสอน จึงทำให้การจัดกิจกรรมกลุ่มล่าช้า ทั้งนี้ ควรสนับสนุนให้ ร.ร.ตชด. ใน จ.สงขลา มีศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน อาทิ ทักษะด้านเนื้อหา เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อประกอบการเรียนการสอน เป็นต้น และครูเสนอแนะว่าควรลดการจัดอบรม เปลี่ยนเป็นการให้ครูไปทัศนศึกษาการจัดการเรียนการสอน เพื่อเปิดโลกทัศน์และเห็นการปฏิบัติการสอนที่ได้ผลจริง ณ สถานศึกษาต่างๆ" คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version