อาจารย์วรวุฒิ เผยว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการบูรณาการงานวิจัยเข้ากับการเรียนการสอนในรายวิชา 997-260 การออกแบบโครงสร้างในงานสถาปัตยกรรม1 ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นักศึกษาได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 9 กลุ่ม เพื่อจัดทำโมเดลทางสถาปัตยกรรม ปรับปรุงพื้นที่หลาดต้นน้ำลำขนุน นำเสนอแนวความคิด และแนวทางการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ได้ผ่านการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ใช้พื้นที่ทุกๆ กลุ่ม โดยมีนายหนูอิ่ม ปานนิล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นตัวแทนของภาครัฐ พร้อมด้วยสมาชิกหมู่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลนาชุมเห็ด และพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่หลาดต้นน้ำลำขนุนเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานของนักศึกษาด้วย
นอกจากนั้น นักศึกษายังได้ จัดทำ"หุ่นจำลองพื้นที่จริง" และ "หุ่นจำลองรูปแบบงานสถาปัตยกรรมในพื้นที่" โดยเป็นงานสถาปัตยกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Sustainable Architecture) ใช้วัสดุพื้นถิ่นประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ไม้ไผ่ ใบจาก ใบสาคู เป็นส่วนประกอบหลักและนำเสนอผ่านที่ประชุมครั้งนี้ด้วย โดยภายหลังจากการนำเสนองานของนักศึกษา ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะได้รับสติ๊กเกอร์เพื่อทำการโหวตเลือก 1 ผลงาน จากทั้งหมด 9 ผลงาน เพื่อนำไปปรับปรุงเป็นแผนแม่บทในการปรับปรุงพื้นที่หลาดต้นน้ำลำขนุนต่อไปในอนาคต