บริษัทฯ ยังพัฒนาการให้บริการ โดยจัดอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อม และเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างสะดวก มีการพัฒนาช่องทางการให้บริการทางออนไลน์ ด้วยระบบ Web Service เพื่อเชื่อมต่อการขายกับตัวแทนและโบรกเกอร์ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ TSI Insurance ยังมีนโยบายที่จะดูแลและบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มจากการปรับพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มงานรับประกันภัย ตลอดจนประเภทของงานที่รับประกัน โดยใช้ Data Analysis เข้ามาวิเคราะห์คุณภาพงานเพื่อกำหนดกลยุทธ์และการพิจารณาการรับงาน ซึ่งปัจจุบันมีการกระจายประเภทของการรับงานและลูกค้ามากขึ้น ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในตัว ขณะที่การบริหารจัดการความเสี่ยงของการรับประกันภัยนั้น จะมีการวิเคราะห์และปรับปรุงเรื่องความเสี่ยงของงานประกันภัย การพิจารณาอัตราการรับความเสี่ยงไว้เอง (Retention Level) และการพิจารณางานประกันภัยต่อ เพื่อกระจายความเสี่ยงและใช้ประโยชน์จากสัญญาประกันภัยต่ออย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับปรุงมาตรการและนโยบายการจัดเก็บชำระเบี้ยประกันภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องการวิเคราะห์ลูกหนี้ การกำหนดวงเงินและการใช้วงเงิน การพิจารณาเรื่องคุณภาพของตัวแทน นายหน้า ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ รวมถึงการพิจารณาและคัดเลือกผู้สำรวจภัยเพื่อสนับสนุนงานบริการด้านสินไหม
นายสันติกล่าวว่า จากการดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัทฯ มีอัตราส่วนของความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด
"จะเห็นได้ว่า จากแผนงานที่กำหนดไว้ เราเดินมาถูกทิศทางแล้ว โดยจากนี้ไป บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์ที่วางไว้ทุกด้าน ทั้งด้านคุณภาพของงาน การใช้ Data Analysis เข้ามาพิจารณาการรับงานประกันภัยทั้ง Motor และ Non Motor การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอยู่มาก และสิ่งสำคัญคือความใส่ใจในลูกค้าและการบริการมากขึ้นด้วยการสร้างคุณค่าองค์กรผ่านทีมงานคุณภาพ ซึ่งเชื่อว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถทำให้TSI สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว" นายสันติกล่าวทิ้งท้าย