นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ยังมีโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีประชากรส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บนพื้นที่ป่าภูเขา การส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนให้แก่ 5 โรงเรียน ในปีนี้ เป็นโรงเรียนในเขตภาคใต้ 4 แห่ง และเขตภาคกลาง 1 แห่ง ถือเป็นโอกาสที่ดีที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่ เป็นหนึ่งใน 5 โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกโครงการฯ ซึ่งจะทำให้เด็กนักเรียนมีแหล่งผลิตโปรตีน ได้อาหารทานอิ่มท้อง ทำให้สมองแจ่มใส หวังว่าโรงเรียนที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้จะสามารถดำเนินการบริหารจัดการไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
"ในนามของประชาชนชาวกระบี่ ขอขอบคุณหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สพฐ. และซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ" รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่กล่าว
นายบรรเจิด หอมบุญมา รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สพฐ. และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ สนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในรูปแบบที่โรงเรียนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนภายใต้โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ช่วยลดปัญหาทุพโภชนาการของนักเรียน โดยในปีนี้ได้สนับสนุนโรงเรียน 5 แห่ง คือ 1.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 อ.เขาพนม จ.กระบี่ 2. โรงเรียนวัดอรัญคามวารี อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี 3.โรงเรียนชุมชนบ้านเขาหลาง อ.ละแม จ.ชุมพร 4. โรงเรียนบ้านทองอินทร์ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.โรงเรียนวัดหัวค่าย (พิศาลอุปถัมภ์)อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟสนับสนุนโครงการฯ ใน 3 ด้านหลัก คือ 1.ด้านการให้ความรู้ ให้คำปรึกษา การเลี้ยงและการบริหารจัดการ ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำเป็นคู่มือการดำเนินงานโครงการฯสำหรับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถดูแลและติดตามได้อย่างครบถ้วนทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดทำคู่มือการเลี้ยงไก่ไข่สำหรับครูและนักเรียน เพื่อให้เลี้ยงและจัดการได้อย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและการสุขาภิบาล ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพกาเลี้ยงได้ตามเกณฑ์ตามมาตรฐาน 2.การสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์ แก่โรงเรียน ผ่านระบบสมาชิกโครงการฯ และ 3.ร่วมติดตามโครงการฯ โดยเจ้าหน้าที่สัตวบาลจะไปเยี่ยมโรงเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายชินจิ นาคาโนะ ประธานส่วนการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น –กรุงเทพฯ (JCC) กล่าวว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา JCC ได้ร่วมสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลรวม 117 โรงเรียน มูลค่ารวม 25.42 ล้านบาท โดยในปีนี้ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 19 ได้สนับสนุนและส่งมอบโครงการให้แก่ 5 โรงเรียน มูลค่ารวม 1.55 ล้านบาท ซึ่งรูปแบบการดำเนินการ JCC ให้การสนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างโรงเรือน การติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยง เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีน มีไข่ไก่สดบริโภคในชุมชน ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
"หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ มีการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น การสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม และการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ส่งผลให้โรงเรียนมีเงินกองทุนหมุนเวียนขยายผลสู่กิจกรรมอื่นๆ เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เด็กนักเรียนกว่า 34,000 คน และครู 900 คน ได้เรียนรู้การบริหารจัดการ ผลผลิตจากโครงการยังเอื้อประโยชน์ต่อเยาวชนได้บริโภคไข่ไก่สดในราคาที่เหมาะสม" ประธานส่วนการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น –กรุงเทพฯ กล่าว
นายบำรุง ฤทธิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ เขต 1 สพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนในส่วนของสพฐ.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการของนักเรียนแต่ไม่พอเพียง การที่ JCC เข้ามาร่วมสนับสนุน ถือเป็นการบูรณาการงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ส่งผลให้นักเรียนมีอาหารอิ่มท้องและมีภาวะโภชนาการที่ดี ส่งเสริมนักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เกิดการฝึกทักษะอาชีพแบบครบวงจร ทั้งการผลิต การจัดการ และการตลาด การดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ของภาคีความร่วมมือ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาเยาวชนของชาติให้มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ เป็นกำลังที่สำคัญของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟน้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยเรื่องภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มาดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน นับตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 718 โรงเรียน ซึ่งการส่งมอบโครงการฯในวันนี้ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่ เป็นโรงเรียนลำดับที่ 719 ของโครงการฯ