แถลงการณ์ เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย อนาคตประชาธิปไตย เศรษฐกิจการเมืองหลังการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

อังคาร ๑๑ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๔๒
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์และอดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ได้กล่าวว่า ในวันรัฐธรรมนูญปีนี้ ประเทศเรามีรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารพร้อมกับยังคงคำสั่งของ คสช จำนวนมากมายที่ขัดกับเนื้อหาหลายมาตราของรัฐธรรมนูญ สะท้อนว่า ประเทศนี้ไม่ได้ปกครองโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญและไม่มีนิติรัฐ รัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุดก็ไม่ได้มาจากประชาชน อนาคตประชาธิปไตย เศรษฐกิจการเมืองยังคงมีความไม่แน่นอนสูง หากไม่มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมและทำให้การเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง การเลือกตั้งจะเป็นเพียงพิธีกรรมที่สร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจของคณะเผด็จการ คสช เท่านั้น และ เปลี่ยนผ่านประเทศจาก "ระบอบรัฐประหาร" สู่ "ระบอบกึ่งประชาธิปไตย" ขณะนี้มีการตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆในเรื่องการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เสรีและมีการแข่งขันทางการเมืองอย่างเป็นธรรม มีข้อสงสัยมากขึ้นตามลำดับถึง ความเป็นกลางและความเป็นอิสระของคณะกรรมการเลือกตั้ง นำไปสู่ การวิตกกังวลว่าจะมีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน การโกงการเลือกตั้งทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ก่อนการเลือกตั้ง การออกแบบระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างบิดเบี้ยวทำให้ไม่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง มีการจัดการเลือกตั้งที่ก่อให้เกิดความสับสนต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งยังมีความไม่แน่นอนหรือขึ้นอยู่กับตัวแปรบางส่วน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่สิ่งที่ผู้อำนาจรัฐและคณะกรรมการเลือกตั้งทำได้ คือ การจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการลดปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในอนาคต ทั้งที่โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยนั้นมีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะเวลา 15-20 ปี หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจของ คสช และมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และมีโอกาสจะเกิดรัฐประหารได้อีก และขอพยากรณ์หากสถานการณ์พัฒนาไปสู่สภาวะที่ไม่พึงประสงค์เช่นนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยประเทศจะเข้าสู่ทศวรรษแห่งความถดถอยอีกรอบหนึ่ง

ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนได้หากเรามีระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่องมั่นคง หลังทศวรรษแห่งความขัดแย้งและความเสื่อมถอย เราควรช่วยกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตประชาธิปไตย

ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน แม้นเป็นเรื่องที่แก้ไขยากและต้องใช้เวลา แต่ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยจะทำให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายตัว มีการตรวจสอบถ่วงดุล

ความเป็นจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ หลังการเลือกตั้งระบอบการเมืองของประเทศไทยจะยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้กติกาสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้วุฒิสภาและองค์กรอิสระที่ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หากต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอันเป็นหลักประกันพื้นฐานต่อความมั่นคงและความก้าวหน้าของประเทศ, หลักประกันพื้นฐานต่อสิทธิเสรีภาพ, สิทธิมนุษยชนและคุณภาพชีวิตของประชาชน ความยุติธรรมและหลักการปกครองโดยกฎหมาย (นิติรัฐ) สังคมไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการดังต่อไปนี้ ตนในฐานะรองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จึงขอเรียกร้องผู้มีอำนาจรัฐ คสช รัฐบาล กกต ดังต่อไปนี้

- สังคมไทยต้องร่วมกันเรียกร้องให้ คสช ทบทวนแผนการสืบทอดอำนาจที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่การล้มรัฐธรรมนูญฉบับ ศ. ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเสียและควรปล่อยให้กลไกการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนโดยปราศจากการแทรกแซงและสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองต่างๆที่แข่งขันกันในการเลือกตั้ง หาก คณะ คสช ละวางจากอำนาจและปล่อยให้บ้านเมืองพัฒนาไปตามภาวะปรกติโดยไม่เข้ามาแทรกแซง ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจะลดลงอย่างมาก

2. ขอเรียกร้องผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบเขต) และต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และ มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้นำประเทศยึดโยงกับประชาชนโดยตรงและมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เรามีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 หลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีวีรชนประชาธิปไตยต้องเสียสละชีวิตและอีกครั้งเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 12 กันยายน 2535 หลังการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งเกิดความรุนแรงและการสูญเสียเลือดเนื้อและเราได้ยึดถือหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการกำหนดใหม่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่อยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคด้วยก็สามารถเป็นผู้นำประเทศได้ เป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนและผู้นำประเทศมีความเชื่อมโยงกันลดลงจนไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของประชาชนเจ้าของประเทศเจ้าของอำนาจอธิปไตย เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนแบบผสมนี้ใช้บัตรใบเดียวในการเลือก ส.ส. เขต เลือกพรรคการเมือง และเลือกนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ นอกจากนี้ในกรณีที่ประชาชนต้องการสนับสนุนผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี จะรู้ได้อย่างไรว่า ประชาชนเลือกใครกันแน่ใน 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ เมื่อมีการกำหนดบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญให้ สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช ร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ประชาชนไม่ได้มีส่วนในการเลือกผู้นำประเทศอย่างแท้จริงอันเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

3. ขอให้ กกต จัดพิมพ์ โลโก้ และ ชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การเพียงแค่เลือก ส.ส. แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศผ่านการเลือกพรรคการเมือง การที่ กกต จะกำหนดให้บัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้และชื่อพรรคสร้างความสับสนในการเลือกตั้งเพิ่มเติมเข้าไปอีก จากเดิมที่มีการกำหนดให้ผู้สมัครพรรคเดียวกันในแต่ละเขตเลือกตั้งยังเป็นคนละเบอร์กันอีกก็สร้างความยุ่งยากและสับสนให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่แล้ว และ ลดบทบาทความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองอยู่ หากบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคและไม่มีโลโก้พรรคการเมือง อาจเป็นการวางแผนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะโดยตั้งใจ ซึ่ง กกต ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วย การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นแผนการทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการทำให้การเลือกตั้งมันดูสับสน ยุ่งยากและอัปลักษณ์ด้วยความตั้งใจของผู้มีอำนาจหรือไม่ และ ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับ คสช อ่อนแอลง ในที่สุดจะก่อให้เกิดการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนเลย

- ต้องปลดล็อคพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถชี้แจงนโยบายได้อย่างเต็มที่ โดยยกเลิกคำสั่งต่างๆที่ปิดกั้นเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ มีความเป็นธรรม มีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยพรรคการเมืองต้องแสดงเจตจำนงในการรณรงค์หาเสียงและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์

- คืนความเป็นธรรมให้กับคดีทางการเมืองทั้งหลายและยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและหยุดการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ

- ต้องมีการจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส เสรี และเป็นธรรมสามารถตรวจสอบข้อมูลและผลการเลือกตั้งได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ หากเกิดความไม่มั่นใจอย่างกว้างขวางว่าระบบการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งและเชิญองค์กรระหว่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมาร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งหรือร่วมจัดการเลือกตั้ง

- เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งเกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้อง มีธรรมาภิบาล และเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในอนาคต แกนนำ คสช ที่ต้องการทำงานทางการเมืองต่อ (สืบทอดอำนาจ) ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เข้าสู่การเสนอตัวแข่งขันอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมกับพรรคการเมืองต่างๆ และต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งมีความเป็นกลาง เป็นธรรมและไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

- กกต ควรสนับสนุนองค์กรประชาธิปไตย องค์กรภาคประชาชน ให้ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันสอดส่องไม่ให้มีการทุจริตหรือโกงการเลือกตั้ง

- เมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้ง ครม. ต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนโดยเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาท ขณะที่ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช ต้องวางตัวเป็นกลางและงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนกับความต้องการของ คสช ซึ่งอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์การเมืองได้

- เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วให้มีการจัดลงประชามติว่า สมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่า ควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางการปฏิรูปประเทศเกิดจากการเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมของประชาชน

หากผู้มีอำนาจและทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการขับเคลื่อนตามข้อเรียกร้องข้างต้น จะทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคต ลดความเสี่ยงในการเกิดการเลือกตั้งสกปรกและเกิดการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง บ้านเมืองจะได้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้า รุ่งเรือง ของประเทศ สันติสุข ความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

ขอให้ผู้มีอำนาจอย่าได้ทำลายโอกาสและความหวังของประชาชน และ อย่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจละวางจากอำนาจ หยุดการสืบทอดอำนาจ เพื่อเห็นแก่ความเป็นปึกแผ่นและความสงบสุขของบ้านเมือง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ