รองศาสตราจารย์ ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม เล่าว่า ปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต หรือผู้สูงอายุ ที่ต้องนอนอยู่บนเตียงหรือบางรายต้องนอนติดเตียง ผู้ป่วยและผู้ดูแลจะมีปัญหาอย่างมากในการยกผู้ป่วยเพื่อธุระต่างๆ กับผู้ป่วย ตลอดจนพาผู้ป่วยไปเข้าห้องน้ำ หรือสถานสงเคราะห์ต่างๆ ที่ต้องมีการดูแลผู้ป่วยหลายเตียงพร้อมๆ กัน จะประสบปัญหาอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากไม่สะดวกในการยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั่นเอง เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่นอนติดเตียง จึงได้ออกแบบชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดานต้นแบบขึ้นมา โดยอุปกรณ์ต่างๆจะถูกยึดติดที่คานหรืบนเพดาน โดยจะมีจุดแยก (Junction) แบบวงกลมและแบบสับราง ชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดานนี้ จะมีประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ 1.ส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ (Hardware) จะประกอบไปด้วยโครงสร้างราง ชุดแยก มอเตอร์เคลื่อนที่ มอเตอร์สับรางแบบวงกลม มอเตอร์สับรางแบบแยก เซ็นเซอร์ และอื่นๆ 2.ส่วนที่เป็นระบบควบคุมจะประกอบไปด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ เพาเวอร์ ไดร์มอเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3.ส่วนที่เป็นซอฟ์ทแวร์ จะใช้ภาษาซี ในการเขียนคำสั่งการทำงาน
นายทศพล ชูชาติ หนึ่งในทีมงานนักศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดาน จะประกอบไปด้วน 5 สถานีคือ สถานนีที่ 1 2 3 4 และ 5 เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากสถานีที่ 1 ไป สถานีที่ 5 ก็สามารถเลือกกดสถานีที่จะไปได้ ส่วนถ้าต้องการกดเลือกยกผู้ป่วยจากสถานีที่ 5 ไปยังสถานีที่ 2 ก็สามารถเลือกกดได้ทุกสถานี โดยเฉพาะสถานีที่ 5 อาจเป็นสถานีห้องน้ำ เราสามารถกดเลือกให้ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังห้องน้ำ เมื่อทำธุระเสร็จก็สามารถเลือกกดให้ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับมายังเตียงนอนได้
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้ามาดูชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดานต้นแบบ ได้ที่สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 025494746