ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) University Space Engineering Consortium (UNISEC Thailand) และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) จัดการแข่งขัน CanSat Thailand 2018 หรือการแข่งขันประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็กขนาดเท่ากระป๋องน้ำอัดลม ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้นำเสนอไอเดียเสริมสร้างประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิศวกรรมด้วยการออกแบบภารกิจและการประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 70 ทีมทั่วประเทศในรอบคัดเลือก จนเหลือเพียง 10 ทีมเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -10 ธันวาคม 2561 ณ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี และสนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี"
ผลปรากฎว่า ทีม Agricultural Exploration Assistant Satellite (A.E.A. Sat) สมาชิกทีมคือ นายวิวรรษธร ฐิตสิริวิทย์ นายภวัต งามดีวิไลศักดิ์ และนายชยากร วงศ์บุญสิน จากโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยมี นายพชร ภูมิประเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้ามาได้ถึง 2 รางวัล คือ The First Place Winner และ The Best Presentation Award ด้วยผลงานดาวเทียมขนาดเล็กทำภารกิจเก็บข้อมูลทางกายภาพของปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเพาะปลูกพืชซึ่งมีอยู่ในชั้นบรรยากาศ ผนวกกับปัจจัยด้านชีวภาพของพืชแต่ละชนิด และนำมาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและปริมาณมากยิ่งขึ้น รวมถึงการศึกษาหลักการทำงานของระบบเก็บข้อมูลและการสื่อสารทางไกลของแบบจำลองระบบดาวเทียม และภาคพื้นดิน รางวัล The Best Science Award เป็นของทีม YSP Cansat สมาชิกทีมคือ นางสาวอันนา แซ่เตีย นางสาวธิวาวรรณ บรรลือหาญ และนายศุภกานต์ มาทะวงษ์ จากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม โดยมี นางสาวสุภาพร สุดบนิด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยผลงานดาวเทียมขนาดเล็กทำภารกิจเก็บข้อมูลความเข้มข้นของสารในกลุ่ม สารประกอบอินทรีย์ระเหย (Volatile Oranic Compounds, VOCs) ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ, CO และ NO2 ในระดับชั้นความสูงต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพอากาศ โดยเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รางวัล The Best Technical Award เป็นของทีม Mini Space สมาชิกทีมคือ นายรวิน อัสสะบำรุงรัตน์ นายธิติพันธ์ โค้วธนพานิช และนายปณิธาน กุมผัน จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมีนายวาริน ภุมรินทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยผลงานดาวเทียมขนาดเล็กทำภารกิจ ตรวจสอบวัดศักยภาพความเหมาะสมในการปลูกพืชของพื้นที่ต่างๆ โดยติดตั้ง sensor เพื่อวัดปัจจัยที่มีผลในการสังเคราะห์แสงของพืช ได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ความเข้มของแสง และความชื้น และเก็บข้อมูลแบบ Real time ผ่านระบบ Wireless Communication
ผศ.ดร. รวิน ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "รู้สึกยินดีกับเยาวชนทุกคนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ รางวัลเป็นเพียงแรงจูงใจ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสำเร็จ แต่สิ่งที่เยาวชนทุกคนรวมถึงครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้มากกว่านั้น คือ มิตรภาพ ประสบการณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือปฎิบัติจริง ในอนาคตเราคาดหวังว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้จะโตไปเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยการนำความรู้ด้านการบินและอวกาศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ต่อไป"