ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า การสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2560 ได้มีการปรับปรุงกรอบประชากร และเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการเนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบางรายมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการทางธุรกิจ อีกทั้งได้มีการให้ศึกษาการวิเคราะห์ระบบนิเวศและห่วงโซ่ค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เพิ่มเติมรวมถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก และยังได้ให้ริเริ่มการศึกษาและสำรวจพฤตกรรมผู้เล่นเบื้องต้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจัยทางตลาด กระแสนิยมต่าง ๆ ซึ่งโครงการสำรวจนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) และสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BKK SIGGRAPH)
ทั้งนี้ เนื่องจากดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมหลากหลายแขนง ทั้ง อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โทรทัศน์ การศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์ และอื่น ๆ ประกอบกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านกระแสนิยม ความสนใจและพฤติกรรมของผู้บริโภค และการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผลการสำรวจมูลค่ารวมมีอัตราการเติบโตโดยรวม 14 เปอร์เซนต์ จากปี 2559 และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มในการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีถัดไปจากตลาดเกมและคาแรคเตอร์
"แนวโน้มการเติบโตในปี 2561 มูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยคาดว่าจะแตะระดับกว่า 27,005 ล้านบาท และมีมูลค่ากว่า 29,358 ล้านบาทในปี 2562 โดยสาขาอุตสาหกรรมแอนิเมชันถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ และยังคงการเติบโตเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 ขณะที่สาขาเกมคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 9 เปอร์เซ็นต์และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 สำหรับสาขาคาแรคเตอร์คาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 12 เปอร์เซนต์ในปี 2561 และ 11 เปอร์เซนต์ในปี 2562 ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามการประเมินจากปริมาณงานที่ผู้ประกอบการกำลังผลิตรวมทั้งแนวโน้มและปัจจัยบวกต่างๆของตลาดที่คาดว่าจะส่งผลต่อการขายตัวของอุตสาหกรรม" ผอ.ดีป้า กล่าว
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยได้ ถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจประเภทการรับจ้างผลิตรับทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัง ซึ่งในปี 2560 ตัวเลขผู้รับจ้างผลิตแอนิเมชันมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 54 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าแอนิเมชันทั้งหมด ส่วนผู้จัดจำหน่ายและนำเข้าเกมมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดเกมทั้งหมด ขณะที่ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้าและดูแลสิทธิคาแรคเตอร์มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 92เปอร์เซ็น
ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจดิจิทัลคอนเทนต์ของปี 2560 ยังรายงานมูลค่าการผลิตและส่งออกงานแอนิเมชัน เกม และคาแรคเตอร์ด้วยว่า มีมูลค่าถึง 1,851 ล้านบาท เป็นอัตราการเติบโตเทียบกับปีก่อนหน้า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยอุตสาหกรรมแอนิเมชันมีมูลค่าส่งออก 1,428 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 เป็น 81 เปอร์เซนต์ซึ่งประเทศที่เป็นว่าจ้างผลิตหลักได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่สาขาเกมมีมูลค่าการส่งออกแตะที่ยอด 398 ล้านบาทซึ่งมีมูลค่าลดลงกว่าปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าการส่งออก 435 ล้านบาท สำหรับสาขาคาแรคเตอร์มีมูลค่าการส่งออกรวม 25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าส่งออก 14 ล้านบาท
"ประเทศไทยยังคงพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าลิขสิทธิ์หรือรับจ้างผลิต ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการไทยมีฝีมือและมีศักยภาพที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก การที่ผู้ผลิตไทยจะมีผลงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตัวเองมากขึ้น จะช่วยลดปัญหาการถูกกดราคาจากต่างประเทศ ลดอัตราการนำเงินออกไปนอกประเทศ และสามารถเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ดีป้าพร้อมจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และยกระดับคุณภาพผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันและเติบโตในธุรกิจได้อย่างยั่งยืนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกิดความสนใจในอุตสาหกรรมแอนิเมชัน เกม และคาแรคเตอร์ การส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดเพื่อการส่งออก ผ่านกองทุน depa Fund เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุน และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับสากลได้ ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์หน้าใหม่ ผ่าน Digital Startup Program ส่งเสริมและสนับสนุน Internationalization Voucher เพื่อเป็นสถานที่ให้ผู้ประกอบการมาพบปะแลกเปลี่ยน และต่อยอดไอเดีย ให้เกิดร่วมมือขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลคอน-เทนต์ และสร้างพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยต่อไป" ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย