หลักธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันในสังคมไทยมาได้ระยะหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับการบริหารงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ธรรมาภิบาล (Good Governance) หมายถึงการปกครอง การบริหาร การจัดการ และการควบคุมดูแลกิจการต่างๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะหลักธรรมทางศาสนา แต่ยังรวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง เช่น ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยจึงเริ่มเห็นความสำคัญของการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสังคม และมีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการยึดหลักธรรมาภิบาลด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ยังคงตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานต่างๆ ได้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้คนส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลและมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้น สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อหลัก "ธรรมาภิบาล" กับการพัฒนาประเทศ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.47 และเพศชายร้อยละ 49.53 สามารถสรุปผลได้ ดังนี้
สำหรับความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "ธรรมาภิบาล" นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 28.1 ระบุว่า "ธรรมาภิบาล" ตามความเข้าใจของตนหมายถึง การดำเนินกิจการต่างๆ โดยยึดหลักความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซง รองลงมาระบุว่าหมายถึงการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงส่วนรวมและความรับผิดชอบต่อสังคม คิดเป็นร้อยละ 24.59 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.85 ระบุว่าหมายถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำผิดกฎหมาย และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.56 และร้อยละ 8.28 ระบุว่าหมายถึง การปกครองประเทศโดยยึดหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนา และการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยไม่เกิดความขัดแย้งวุ่นวาย ตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4.36 ระบุความหมายอื่นๆ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.26 ยอมรับว่าตนเองไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "ธรรมาภิบาล" เลย
ในด้านความคิดเห็นต่อหลัก "ธรรมาภิบาล" กับการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.17 มีความคิดเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับหลัก "ธรรมาภิบาล" ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.84 มีความคิดเห็นว่าตนเองสามารถนำหลัก "ธรรมาภิบาล" มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันนอกเหนือจากการนำไปใช้เกี่ยวกับหน้าที่การงานได้
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.55 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลบรรจุเนื้อหาการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลัก "ธรรมาภิบาล" ลงไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับต้นจะมีส่วนช่วยทำให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในอนาคตตระหนักถึงเรื่อง "ธรรมาภิบาล" ได้มากกว่าคนรุ่นปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.64 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.81 ไม่แน่ใจ
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.2 มีความคิดเห็นว่าหากหน่วยงานเอกชนยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารงานจะมีส่วนช่วยเพิ่มภาพลักษณ์เชิงบวกในสายตาของผู้คนในสังคมต่อหน่วยงานให้สูงขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.68 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.12 ไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อหลัก "ธรรมาภิบาล" กับการบริหารประเทศ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.82 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่/แสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการในภาคส่วนต่างๆ ลงได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.79 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ/ช่วยเหลือประชาชนของหน่วยราชการต่างๆ ให้สูงขึ้นได้
นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.85 มีความคิดเห็นว่าหากรัฐบาลยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีการแบ่งข้าง/พวกพ้องจะมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศลงได้
แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.16 ไม่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งที่จะมาถึงนี้ประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัด และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.14 มีความคิดเห็นว่าไม่มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่ยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" ในการบริหารประเทศอย่างเคร่งครัดภายในระยะเวลายุทธศาสตร์ 20 ปี