นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมบัญชีกลางได้รับสมัครร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าเอกชนอื่น ในการเข้าร่วมมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ ขณะนี้มีร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3,225 ร้านค้า ซึ่งผู้มีสิทธิได้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งจากกระเป๋าวงเงิน (200/300 บาท) และในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าเอกชนอื่น (เฉพาะกระเป๋า e-Money) จำนวน 362,531 ราย
จากข้อมูลการใช้จ่ายจริงของผู้มีสิทธิในระหว่างวันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2561 รวมเป็นเงินกว่า 97.4 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) จำนวนกว่า 6 ล้านบาท โดยกันไว้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ส่วนอีก 6% จะนำข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายมาประมวลผลเพื่อจ่ายเงินชดเชยไม่เกิน 500 บาท จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจและฐานราก แบ่งเป็นเงินชดเชยเพื่อนำไปใช้จ่าย 5% เป็นเงินกว่า 4.4 ล้านบาท โดยโอนเข้ากระเป๋า e-Money ให้แก่ผู้มีสิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินชดเชยอีก 1% เพื่อการออม เป็นเงิน 877,585.35 บาท โดยจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว กรมบัญชีกลางได้ประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ให้เปิดบัญชีเงินฝากชนิดพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกรายเรียบร้อยแล้วโดยแบ่งตามอาชีพ กล่าวคือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประกอบอาชีพเกษตรกร และลูกจ้างภาคเกษตรกรรม (รับจ้างทำนา ทำสวน กรีดยาง) ให้เปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากอาชีพข้างต้น ให้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน ในส่วนของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีสถานะเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ธนาคารจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเมื่อยอดเงินสะสมในบัญชีครบทุก 50 บาท
สำหรับการจ่ายเงินชดเชยจากการใช้จ่ายในเดือนพฤศจิกายนเข้ากระเป๋า e-Money กรมบัญชีกลางจะเริ่มจ่ายในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 นี้เป็นเดือนแรก ส่วนข้อมูลการใช้จ่ายในเดือนถัดไปก็จะนำมาประมวลผลและจะจ่ายเงินชดเชยให้ทุกวันที่ 15 ของเดือน หากเดือนไหนตรงกับวันหยุดจะจ่ายในวันทำการก่อนหน้า ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 (ซึ่งเป็นข้อมูลการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 1 – 30 เมษายน 2562) เป็นเดือนสุดท้าย
ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่ได้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระเงินค่าสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่รวมสินค้าที่มีภาษีสรรพสามิต เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ น้ำมันเชื้อเพลิง หรือสินค้าไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอื่น ๆ) ในเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 362,531 ราย จะได้เงินโอนเข้ากระเป๋า e-Money ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นเงินจำนวนประมาณ 4.4 ล้านบาท และจะได้เงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการออม โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 33,676 ราย และธนาคารออมสิน จะโอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 328,855 ราย รวมเป็นยอดเงินเพื่อการออม จำนวนทั้งสิ้น 877,585.35 บาท ในกรณีที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นสมาชิก กอช. ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีรายตัวของสมาชิกให้ตามเงื่อนไขข้างต้นต่อไป
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวย้ำว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มคืนมากขึ้นตามจำนวนเงินที่ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าวงเงิน และกระเป๋า e-Money ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถเติมเงินของตนเองเข้ากระเป๋า e-Money สำหรับใช้จ่ายได้