นายโกญจนาท ศรมยุรา รองประธานกรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชี และการเงิน (CFO) บริษัท เกษมชัยฟู๊ด จำกัด เปิดเผยในวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "ไข่ใจบุญ" เพื่อสนับสนุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า "ผมได้ข่าวว่าคุณหมอไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความต้องการรับเงินบริจาคจากคนไทยคนละ 5 บาท เพื่อวิจัยต่อยอดทำยารักษามะเร็ง ซึ่งจะลดค่ายาจากเข็มละ 200,000 บาท เหลือเพียง 20,000 บาท ทำให้คนไทยมีความหวังที่จะเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งได้มากขึ้น ผมจึงอยากมีส่วนร่วมสนับสนุนทันที"
หลังจากที่บริษัทฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของโครงการวิจัยฯ ว่ายินดีดำเนินการร่วมกัน บริษัทฯ จึงเร่งเชิญชวนห้างร้านต่างๆ ที่บริษัทฯ ได้วางขายผลิตภัณฑ์ไข่อยู่แล้ว ให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทุกห้างร้านให้ความสนใจเข้าร่วมทันที โครงการมีระยะเวลา 9 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 31 สิงหาคม 2562 หลังจากนั้นจึงค่อยดูกระแสตอบรับและความจำเป็นของโครงการวิจัยฯ อีกครั้งว่ายังต้องการให้ช่วยเหลือต่ออีกหรือไม่ เพราะประชาชนอาจจะสนับสนุนจนเกินจำนวนที่ต้องการแล้วก็ได้
นายโกญจนาท ยังเปิดเผยต่อด้วยว่า "ผมเคยลองคำนวณง่ายๆ ตอนที่ไปพบกับคุณหมอไตรรักษ์หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ซึ่งผมยังไม่รู้เลยว่าห้างไหนจะเอาด้วย จึงคิดง่ายๆ ว่า ห้างที่เราขายไข่มีอยู่ 4,000 สาขา ถ้าขายได้สาขาละ 10 แพ็ค รวมเป็น 40,000 แพ็คต่อวัน หนึ่งแพ็คบริจาค 5 บาท = 200,000 บาท ได้เงินเดือนละ 6 ล้านบาท จำนวน 9 เดือน = 54 ล้านบาท ขณะที่ในเฟสนี้คุณหมอต้องการ 200 ล้าน แต่คุณหมอก็บอกว่า ไม่เป็นไร ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าได้ก็ถือว่าคนไทยเห็นความสำคัญ และก็จะทำให้ผลการวิจัยสำเร็จเร็วขึ้น เป็นของขวัญให้กับประชาชนได้เร็วขึ้น"
ด้านนายแพทย์ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าทีมวิจัยยาแอนติบอดีรักษามะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า การวิจัยมีทั้งสิ้น 5 เฟส ประกอบด้วย
เฟส 1 การผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู ทำการผลิต เลือก และทดสอบยาต้นแบบจากเซลล์เม็ดเลือดขาวของหนูมากกว่าหนึ่งแสนแบบ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท
เฟส 2 ปรับปรุงแอนติบอดีให้มีความคล้ายโปรตีนของมนุษย์ และเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท
เฟส 3 เมื่อได้ยาต้นแบบที่ปรับปรุงแล้ว จะต้องนำมาทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง แล้วทำการผลิตยาจากโรงงานในปริมาณมากให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยสูงสุด ในขั้นตอนนี้ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท
เฟส 4 ทดสอบยาที่ผลิตได้ในสัตว์ทดลอง เช่น หนู และลิง โดยจะทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ต่อไป คาดว่าจะใช้งบประมาณ 100-200 ล้านบาท
เฟส 5 การทดสอบในมนุษย์ เป็นการทดสอบตัวยาในผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการทดสอบต่างๆ อาทิ ปริมาณการให้ยา ประสิทธิภาพการรักษา ผลข้างเคียง เป็นต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท
นายแพทย์ไตรรักษ์ กล่าวว่า "เพื่อให้งานวิจัยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ศูนย์ฯ จึงได้จัดตั้ง "กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ" ขึ้นเพื่อระดมทุนในการพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ และเป็นวิธีการรักษาแห่งอนาคตซึ่งเป็นความหวังที่จะเอาชนะโรคมะเร็งได้"
ด้าน คุณโสภาพรรณ จุ้ยเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหาร
สด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอดทั้งด้านการศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ต้องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน สำหรับโครงการ "ไข่ใจบุญ" เพื่อสนับสนุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ นับเป็นโครงการที่ดีมาก และบริษัทฯ ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งทางเราได้จัดพื้นที่เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายถึง 209 สาขาทั่วประเทศ ลูกค้าของเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ พร้อมให้การช่วยเหลือ สนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมเสมอ จากหลายๆ โครงการที่บริษัทฯ จัดขึ้นก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง การเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ "ไข่ใจบุญ" เพื่อสนับสนุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ เราจึงเชื่อมั่น
ขอเพียงประชาชนเมื่อได้เห็นแพ็ค "ไข่ใจบุญ" วางขายที่เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์แล้ว ก็ช่วยอุดหนุนกันคนละหลายๆ แพ็ค เพื่อให้ได้ยอดเงินบริจาคตามเป้าหมายโดยเร็ว ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์เร็วยิ่งขึ้น
การผนึกกำลังกันระหว่างผู้ผลิตไข่ (KCF) กับ ช่องทางขาย (เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์) ภายใต้โครงการ "ไข่ใจบุญ" เพื่อสนับสนุนกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ในครั้งนี้ จะเป็น "ความหวัง" ที่ไม่ไกลเกินเอื้อมของประชาชนคนไทยเพื่อเข้าถึงยารักษามะเร็ง ซึ่งทุกวันนี้คนไทยมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งแล้วถึง 1 ใน 3 คน