นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุน Roadmap ที่สำคัญของประเทศในการร่วมผลักดัน Digital Smart City เนื่องจากเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนกำลังให้ความสนใจ เพราะต้องเตรียมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ รวมถึงประเด็นทางด้าน Cybersecurity หรือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้เกิดการผนวก (Integrate) ประเด็นสำคัญตั้งแต่กระบวนการออกแบบตั้งแต่ต้น นำไปสู่การผนึกกำลังร่วมระหว่างความร่วมมือของหน่วยงานสำคัญ 3 ฝ่าย คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญในการสร้างอนาคตดิจิทัลให้แก่องค์กรธุรกิจ ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบไอที และให้การปกป้องข้อมูลที่ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญขององค์กร
ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเชื่อมโยงเทคโนโลยีที่สำคัญ โดย
มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมดิจิทัลของประเทศภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่จะนำไปสู่
ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทั้งในเชิงวิชาการ และทางด้านเทคนิค ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ รองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการยกระดับชีวิตของประชาชนอย่างมั่นคงปลอดภัย ซึ่ง เดลล์ เทคโนโลยีส์ ถือเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องการผลักดันไปสู่ดิจิทัลในอนาคต โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน
"ETDA ได้มีการดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนมีความพร้อมในการร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมอง รวมถึงการพัฒนาบุคลากร การวิเคราะห์ข้อมูล ภายใต้จุดหมายของการสนับสนุน Roadmap ทางด้านดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ เพื่อผลักดัน Digital Smart City ไทยให้เข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยความร่วมมือนี้นอกจากจะร่วมกันพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในการให้บริการธุรกรรมออนไลน์แล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการให้บริการแก่สังคมและประชาชนของรัฐบาล" นางสุรางคณา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การผลักดัน Digital Smart City สำหรับประเทศไทยนั้น จะประกอบไปด้วยเงื่อนไขหลายเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และดูเรื่อง Cybersecurity ของประเทศ การดูแลในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ (Security by Design) ซึ่งมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA และการร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติ คือ เดลล์ เทคโนโลยีส์ มาถ่ายทอดให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทั้งหมดคือความเชื่อมโยงโดยเทคโนโลยี และความรู้ (Knowledge) เพื่อยกระดับการดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวถึงความร่วมมือนี้ว่า depa ในฐานะหน่วยงานที่ทำเรื่อง Smart City หรือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในการพัฒนา ให้กลายเป็นเมืองที่ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน โดยมีต้นแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยให้อุตสาหกรรมดิจิทัลขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน และเมื่อโครงการนี้ดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบัน โครงการ Phuket Smart City มีพัฒนาการในหลายด้าน และดำเนินโครงการให้หลายมิติเพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City เช่น การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศดิจิทัลภูเก็ต (Centre of Digital Excellence Phuket: CODE Phuket) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับมาตรการพิเศษสำหรับ Digital Worker หรือบริษัทด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ที่จะมาทำงานหรือลงทุนในประเทศไทย และกำลังขยายผลโครงการเมืองอัจฉริยะ เพิ่มอีก 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ และ EEC ตามเป้าหมายของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเร็ว ๆ นี้ เตรียมประกาศเกณฑ์การประเมินเมืองอัจฉริยะ และตราสัญลักษณ์ Smart City
นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า จากความร่วมมือนี้ บริษัท เดลล์ เทคโนโลยีส์ ได้นำเอานวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ดีที่สุด (best-in-class) ทั้งในด้านแอปพลิเคชั่น ดาต้า โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนถึงการรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่การใช้งานที่อุปกรณ์ปลายทาง (edge) ไปจนถึงส่วนกลางในการประมวลผล (core) ครอบคลุมจนถึงส่วนการทำงานบนคลาวด์ (cloud) เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับ ETDA และ DEPA ในการปฏิรูปประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นประชาชาติดิจิทัลเพื่อการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนในยุคของเศษฐกิจดิจิทัล"
"ที่เดลล์ เทคโนโลยีส์ เรามีความแข็งแกร่งของแบรนด์เทคโนโลยีทั้ง เดลล์ เดลล์ อีเอ็มซี พิโวทอล อาร์เอสเอ ซิเคียวเวิร์กส เวอร์ทุสสตรีม และวีเอ็มแวร์ ที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสอดคล้องเพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียว นั่นคือการช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถปฏิรูป รูปแบบการทำงานเพื่อให้สามารถตอบสนองและปฏิรูปชีวิตของประชาชนที่พวกเขาบริการและให้การดูแลได้เป็นอย่างดี" นายอโณทัย กล่าว