บัญชีกลางเริ่มแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม 21 ธ.ค. 61 ใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 62

อังคาร ๑๘ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๐๙:๔๒
กรมบัญชีกลางเริ่มแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม จำนวน 3,042,741 ราย ผ่านทีมไทยนิยม ยั่งยืน ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป โดยใช้บัตรได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้จัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 โดยจะเริ่มแจกบัตรฯ ผ่านทีมไทยนิยม ยั่งยืน ทั่วประเทศ จำนวน 3,042,741 ราย ซึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะแจกในครั้งนี้ มี 2 แบบ คือ 1) บัตรแบบ Contactless เป็นบัตรที่สามารถใช้ได้กับเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดโมบาย ที่จะแจกให้กับผู้มีสิทธิที่แจ้งที่อยู่ปัจจุบันใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม และ 2) บัตรแบบ Smart Card ซึ่งจะแจกให้กับผู้มีสิทธิในจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก 7 จังหวัดข้างต้น

ขณะนี้ได้จัดส่งบัตรไปที่สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว เพื่อส่งต่อให้ถึงมือผู้มีสิทธิได้รับบัตรตามที่มีการประกาศรายชื่อ โดยกำหนดระยะเวลาในการรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนี้

1. ตั้งแต่วันที่ 21 – 28 ธันวาคม 2561 รับบัตรจากทีมไทยนิยมฯ ระดับตำบล/ชุมชน ซึ่งจะแจ้งจุดรับบัตรให้ทราบ และเริ่มใช้บัตรได้ในวันที่ 1 มกราคม 2562

2. ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2561 – 31 มกราคม 2562 รับบัตรจากทีมไทยนิยมฯ ระดับตำบล/ชุมชน ซึ่งจะแจ้งจุดรับบัตรให้ทราบ และบัตรจะเริ่มใช้ได้หลังจากรับบัตรไปแล้ว 2 วันทำการ

3. ตั้งแต่วันที่ 1 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 ต้องไปรับบัตร ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร ตามที่อยู่ปัจจุบันที่ลงทะเบียนไว้ และบัตรจะเริ่มใช้ได้หลังจากรับบัตรไปแล้ว 2 วันทำการ

4. หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ผู้มีสิทธิจะต้องไปรับบัตรที่สำนักงานคลังจังหวัดหรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในจังหวัดที่ผู้มีสิทธิได้ลงทะเบียนไว้ และบัตรจะเริ่มใช้ได้หลังจากรับบัตรไปแล้ว 2 วันทำการ

ในการขอรับบัตร ให้ผู้มีสิทธินำบัตรประจำตัวประชาชนมารับบัตรด้วยตนเอง หากมอบให้ผู้อื่นมารับบัตรแทน จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้มีสิทธิและผู้มอบอำนาจ พร้อมด้วยหนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรฯ ของผู้มอบอำนาจที่ได้ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่มารับบัตรทุกกรณีจะต้องลงชื่อเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการรับบัตรด้วย

เมื่อผู้มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมแล้ว จะสามารถใช้สิทธิได้ 2 ประเภท ได้แก่

1. สิทธิในกระเป๋าวงเงิน ประกอบด้วย

1.1 ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

- วงเงินค่าโดยสารรถ ขสมก./รถไฟฟ้า จะได้รับ 500 บาท/คน/เดือน ใช้ได้สำหรับผู้มีสิทธิที่ได้รับบัตรแบบ Contactless เท่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิต้องการใช้จ่ายเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้า ให้นำบัตรไปที่ห้องจำหน่ายตั๋วตามสถานีเพื่อแตะและแลกรับเป็นเหรียญแทนเงิน (Token) ในส่วนของผู้มีสิทธิที่ต้องการใช้จ่ายเป็นค่าโดยสารรถ ขสมก. พนักงานเก็บเงินจะมีเครื่องรับชำระค่าโดยสาร (Handheld) ไว้ที่ตัวเอง โดยจะนำบัตรไปแตะที่เครื่องและเลือกอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีบัตร

- วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. จะได้รับ 500 บาท/คน/เดือน โดยการใช้สิทธิจากจุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถ บขส.

- วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จะได้รับ 500 บาท/คน/เดือน โดยการใช้สิทธิจากจุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟทุกสถานี (รฟท.)

1.2 ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

- วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านธงฟ้าประชารัฐ สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน ส่วนผู้มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน

- วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด จะได้รับ 45 บาท/คน/3 เดือน

ทั้งนี้ หากมีวงเงินคงเหลือภายในบัตรของแต่ละเดือนจะไม่มีการสะสมเพื่อใช้ในเดือนถัดไป และไม่สามารถถอนวงเงินสวัสดิการออกมาเป็นเงินสดได้

2. สิทธิในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ประกอบด้วย

2.1 มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี คนละ 500 บาท (จ่ายเพียงครั้งเดียว) จะโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562

2.2 มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ผู้มีสิทธิจะได้รับช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 โดยจะโอนเงินเข้าบัตรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าและการประปา ทุกวันที่ 18 ของเดือน เริ่มจ่ายเดือนแรกวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

2.3 มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีภาระค่าเช่าบ้านและไม่มีที่อยู่อาศัย จะได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 400 บาท/คน/เดือน หากผู้มีสิทธิรายใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในระหว่างเดือนธันวาคม 2561 จนถึงเดือนกันยายน 2562 จะได้รับเงินในเดือนเกิดเป็นครั้งแรกจนสิ้นสุดมาตรการ โดยจะโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นเดือนแรก จากนั้นจะโอนเงินช่วยเหลือให้ทุกวันที่ 12 ของเดือนเกิด

2.4 มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปีขึ้นไป ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562 ได้รับเงินคนละ 1,000 บาท (จ่ายเพียงครั้งเดียว) โดยจะโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นเดือนแรก จากนั้นจะโอนเงินให้กับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปี ทุกวันที่ 21 ของเดือนเกิด

นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพ จากบัญชีกองทุนผู้สูงอายุสำหรับภาษีสรรพสามิตและสุรายาสูบ โดย 1) ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์ฯ 100 บาท/คน/เดือน และ 2) ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์ฯ 50 บาท/คน/เดือน ซึ่งจะเริ่มโอนเงินเข้าบัตรให้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นเดือนแรก จากนั้นจะโอนให้ทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับผู้สูงอายุที่อายุยังไม่ครบ 60 ปี จะได้รับเงินในวันที่ 15 ของเดือนเกิด จนถึงเดือนมีนาคม 2562

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวย้ำว่า ผู้มีสิทธิที่รับบัตรจากทีมไทยนิยมฯ ในระหว่างวันที่ 21 - 28 ธันวาคม 2561 จะเริ่มใช้สิทธิที่กล่าวข้างต้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป หากไปรับบัตรหลังจากวันดังกล่าว จะสามารถใช้สิทธิได้หลังจากรับบัตรไปแล้ว 2 วันทำการ เนื่องจากทีมไทยนิยม ยั่งยืนจะต้องส่งรายงานรายชื่อผู้รับบัตรให้สำนักงานคลังจังหวัด/กรมบัญชีกลาง จากนั้นจะส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเปิดสิทธิของบัตร (Activate) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีสิทธินำเงินในบัตรไปใช้ เช่น ผู้มีสิทธิไปรับบัตรในวันที่ 2 มกราคม 2562 จะเริ่มใช้สิทธิต่าง ๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2562 เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้จัดทำแผ่นประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้มารับบัตรทุกคน สำหรับเงินที่ผู้มีสิทธิได้รับการโอนเงินเข้ากระเป๋า e-Money ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีสิทธิไม่จำเป็นต้องรีบถอนเงินทันที เพราะไม่จำกัดเวลาในการใช้จ่าย และไม่มีการดึงเงินกลับเข้าสู่ระบบแต่อย่างใด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version