5 ทศวรรษแห่งการก้าวย่าง : สานรักครอบครัวสู่ชุมชน ภายใต้การดำเนินงานสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) จังหวัดปทุมธานี กับทำงานด้านการฟื้นฟูผู้ป่วยด้านจิตทุเลามากว่า 50 ปี มีความต้องการให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง อีกทั้งเป็นจุดศูนย์รวมในการพักพิงช่วยเหลือผู้ป่วยไร้บ้าน ญาติ ๆ ประชาชนทั่วไปที่ต้องการการช่วยเหลือ การได้รับการปรึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) จังหวัดปทุมธานี ยึดมั่นในพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ "งานช่วยคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะว่าผู้พิการ มิได้เป็นผู้ที่อยากพิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิต และมีเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยตนเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม" อันเป็นแนวทางการทำงานของสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) จังหวัดปทุมธานี ภายใต้การดำเนินงานกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
นายจีระศักดิ์ ศรีพรมมา หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวอีกว่า งาน 5 ทศวรรษแห่งการก้าวย่าง : สานรักครอบครัวสู่ชุมชน จะเป็นส่วนสำคัญในการแสดงถึงการให้ความสำคัญในชีวิตเพื่อนมนุษย์ สังคมที่ให้โอกาสในการกลับคืนสู่ชีวิตประจำวันเช่นปรกติทั่วไป ดังนั้น ขวัญกำลังใจถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ทำงานอย่างหนัก กับผู้ป่วยจิตทุเลาในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) อันเป็นเสมือน "ลูก" ในการดูแลภายในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) ตลอด 24 ชั่วโมง
"จากสถิติคนไข้จิตทุเลาที่มีจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี ที่รับมาจากโรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) จังหวัดปทุมธานี เป็นเสมือนจุดพักในการดูแล ฝึกอบรมด้านอาชีพ ก่อนส่งคืนสู่ครอบครัวและสังคมต่อไปตามลำดับ หากแต่จำนวนคนไข้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การส่งคืนสู่ครอบครัวอันเป็นสถาบันเริ่มต้นที่มีความรักความผูกพันและการได้รับการดูแลที่ถูกต้องจากคนในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) จังหวัดปทุมธานี จึงต้องการให้ครอบครัว สังคม และประชาชนทราบถึงการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา และต้องการเปิดบ้านรับครอบครัวของผู้ป่วยทุกคนกว่า 500 คน ที่สำคัญไปกว่านั้นต้องการให้สังคมเปิดรับ เข้าใจคนไข้จิตทุเลาที่พร้อมที่กลับคืนสู่สังคม และครอบครัวต่อไป" นายจีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย