"มาตรการดังกล่าว ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการยางล้อในการเข้าร่วมโครงการ โดยขณะนี้มี 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท IRC บริษัท Maxxis บริษัท N.D Rubber บริษัท ดีสโตน และ บริษัทโอตานิ ที่รับซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท.เพื่อนำไปผลิตล้อยาง ซึ่งมาตรการดังกล่าวนอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังโครงการนี้สิ้นสุดลง กระทรวงเกษตรฯ ก็จะมีมาตรการอื่น ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายยางภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น"นายกฤษฎา กล่าว
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ ประเภท 4 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 100 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน และคูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยาน ประเภทรถ 2 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 500 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน ทั้งนี้ นอกจากจาก 5 บริษัทดังกล่าว ยังมีบริษัทผู้ผลิตยางล้อในประเทศไทย ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อยางช่วยชาติ โดยสามารถนำใบเสร็จ หรือเอกสารสัญญาซื้อยางจากคู่สัญญา ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. มาแสดงต่อ กยท.เพื่อรับคูปอง และนำคูปองไปกระจายต่อบริษัทหรือร้านค้าที่จำหน่ายยางได้ โดยทุกส่วนงานจะช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ามีร้านค้าใดเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น