ม.มหิดล โชว์ผลสำเร็จโครงการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน

พุธ ๑๙ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๐๘:๕๔
มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบ้านโชว์ผลสำเร็จโครงการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม หลังริเริ่มโครงการต่าง ๆ มานานหลายปีเพื่อเดินหน้าเต็มสูบสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558-2562 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University) ที่มีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals–SDGs)

รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร ความเท่าเทียมกันของสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย โดยหนึ่งในกลยุทธ์ในการดำเนินงานเพื่อการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ คือ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment-Friendly Campus) เช่น การลดก๊าซเรือนกระจก การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โครงการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น"

กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีการพัฒนาระบบกายภาพในหลาย ๆ ด้าน ควบคู่กับการรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างโครงการ ดังนี้

โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล - มหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงประชาชนรอบมหาวิทยาลัยสามารถเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำขยะมาขายให้กับโครงการฯ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้ปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยลดลงจำนวนมาก หน่วยงาน บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนผู้ประกอบการร้านค้าสามารถนำขยะรีไซเคิลมาฝากขายได้ที่อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยธนาคารขยะรีไซเคิลจะออกสมุดฝากขยะรีไซเคิลและจำนวนเงินที่ฝากในวันนั้นให้ และผู้ที่นำมาฝากสามารถถอนเงินได้ทันทีหรือจะฝากไว้ถอนในวันอื่น ๆ ก็ได้

ส่วน "โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิล" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมกับกองเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบธนาคารขยะรีไซเคิลภายในมหาวิทยาลัย ตัวโปรแกรมสามารถทำธุรกรรมได้คล้ายระบบธนาคารทั่วไป เช่น การสมัครสมาชิก การรับฝาก การถอนเงิน และสามารถรายงานสรุปการทำธุรกรรมของทุกขั้นตอนได้ ซึ่งทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นเรื่องที่ง่าย รวดเร็ว และเชื่อถือได้

ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ดำเนินโครงการมา มีปริมาณขยะรีไซเคิลที่สมาชิกนำมาฝากที่ธนาคารขยะ เป็นจำนวนถึง 1,920,891.98 กิโลกรัม คิดเป็นยอดเงินรับซื้อขยะรีไซเคิลจากสมาชิกเป็นจำนวนสูงถึง 10,173,818.03 บาท ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขยายผลและความสำเร็จ "โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล" ไปสู่โรงเรียนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะที่นับเป็นปัญหาระดับชาติ

โครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ - กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งโครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำขยะใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ภายในมหาวิทยาลัยกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยการนำมาหมักแบบกองเติมอากาศ ซึ่งจะทำให้เศษวัสดุต่าง ๆ มีการย่อยสลายได้เร็วขึ้นและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ต้องใช้แรงงานในการพลิกกลับกอง ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ และสามารถจัดการกับขยะใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ที่มีปริมาณมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทของมหาวิทยาลัยที่ให้คงพื้นที่สีเขียวไว้ 70 % การจัดการเศษขยะจากใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า โดยวิธีการหมักปุ๋ยแบบกองเติมอากาศจึงเป็นวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุด และยังสามารถนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปใช้ในการดูแลบำรุงรักษาสภาพภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัย หรือจำหน่ายให้กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยนำรายได้ทั้งหมดเข้าสู่กองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ปีละประมาณ 200,000 บาท

โครงการบำบัดน้ำเสีย - หลังจากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี เกิดการชำรุดเสียหาย อีกทั้งพบว่ามีการทิ้งน้ำเสียจากบางส่วนงานลงสู่คูคลองสาธารณะ และรางระบายน้ำฝนของมหาวิทยาลัย ทำให้แหล่งน้ำผิวดินเกิดการเน่าเสีย ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของอาคารและจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ทางมหาวิทยาลัยจึงมีการศึกษา สำรวจ และออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Central Treatment) ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียจากอาคารเดิมรวมถึงอาคารที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้ปริมาณ6,000 ลบ.ม./วัน ในปัจจุบันก่อสร้างและใช้จริงอยู่ที่ปริมาณ 3,000 ลบ.ม./วัน และมีการบริหารจัดการเพื่อบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งประเภท ก. (น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีค่า BOD ไม่เกิน 20 mg/l) ดังกฎหมายกำหนดก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน พบว่าคุณภาพน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมีคุณสมบัติผ่านมาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด และโครงการฯ นี้ยังสามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมารีไซเคิลใช้แทนประปา เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้น้ำประปาได้ประมาณ 1,000 ลบ.ม./วัน ประหยัดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยได้ 27,000 บาท/วัน

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ - อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นอุทยานธรรมชาติเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวบรวมพันธุ์สมุนไพรที่ปรากฏในตำรายาไว้มากที่สุด ประมาณ 800 ชนิด นอกจากนี้ภายในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ นิทรรศการ "สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล" ให้ผู้ชมได้เข้าใจภูมิปัญญาไทยการประยุกต์ใช้สมุนไพร ทั้งในเชิงการใช้ชีวิตประจำวันและในเชิงวิทยาศาสตร์ ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ให้ผู้ชมได้เรียนรู้จากสมุนไพรใกล้ตัว ได้เห็นของจริงอย่างใกล้ชิดและมั่นใจได้ในการใช้งานอย่างปลอดภัย เพราะเป็นสมุนไพรที่มีงานวิจัยรองรับ 100% ลานสมุนไพรจากพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมีสื่อการสอนพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ บ้านหมอยา คลินิกให้บริการการแพทย์แผนไทย ในบรรยากาศบ้านหมอยาแบบโบราณ ที่สำคัญ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้จัดสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "การออกแบบเพื่อมวลชน" (Universal Design) โดยเป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ ที่อำนวย ความสะดวก ให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยสมรรถภาพด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ชมทุกกลุ่มสามารถมาเรียนรู้และเยี่ยมชม อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน

ก่อนจะมาเป็นอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ แรกเริ่มเดิมทีเป็นสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสมุนไพรและธรรมชาติวิทยา ภายใต้การดำเนินงานของคณะเภสัชศาสตร์ แต่เมื่อ พ.ศ. 2550 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีในขณะนั้น มีความคิดที่จะยกระดับพื้นที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางด้านพฤกษศาสตร์ด้วย จึงดำเนินการปรับภูมิทัศน์และขยายพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ เป็น 140ไร่ และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ" เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ - เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปสมุนไพรศาลายา ร่วมกับอำเภอพุทธมณฑลและมหาวิทยาลัยมหิดล โดยแนวคิดเบื้องต้นเกิดจากความต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ใช้พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ บริเวณด้านข้างอาคารคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อดำเนินการโครงการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังได้มีการ ปลูกผักปลอดสารพิษบนอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ซึ่งอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดลยังคงมีพื้นที่ที่สามารถปรับปรุงให้เกิดการใช้ประโยชน์และพัฒนาการเรียนรู้ได้อีก จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) ที่ปลอดสารพิษ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร ส่งเสริมการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภคอีกด้วย

โครงการพลังงานไบโอดีเซล - โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันประกอบอาหารของศูนย์อาหารเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2560 จากการไปศึกษาดูงานจากฟาร์มโชคชัยมาเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหาร กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งโดยการผ่านกระบวนการ โดยใช้ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลเพียง 19 บาท ต่อ 1 ลิตร เท่านั้น และไบโอดีเซลที่ได้ก็จะนำไปใช้กับรถขนของ รถบรรทุกต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย และนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนโดยรอบต่อไป

โครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก - มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติกขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาคมมหิดลเกิดการลดใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกที่มีสภาพใหม่กลับมาใช้ซ้ำและส่งเสริมให้บุคลากร นักศึกษา ประชาชน มีความรู้ ความตระหนักและเห็นคุณค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ล่าสุดหลังเปิดตัวโครงการมาเกือบ 2ปี โดยทางมหิดลได้ขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อจำนวน 12 ร้านใน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าโดยเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อนำถุงผ้ามาเอง หรือเลือกบริจาคค่าถุงพลาสติกใหม่ในราคา 2 บาท หรือใช้ถุงพลาสติก reuse ส่งผลให้ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรือลดการใช้ถุงพลาสติกได้เกือบถึง 2 ล้านใบต่อปี

"ในอนาคต เพื่อตอกย้ำความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ที่ให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนที่จะแสวงหาความร่วมมือ ต่อยอดหลายๆ โครงการฯ ของมหาวิทยาลัย ไปยังชุมชนใกล้เคียงและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป เรามุ่งมั่นไม่เพียงแต่จะให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เราอยากให้ทั้งชุมชนของเรา ประเทศของเรา เป็นต้นแบบด้วยเช่นเดียวกัน" รศ.ดร.กิติกร กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version