นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก Trade War โดยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 คณะกรรมการบริหารฯ ส.อ.ท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากสงครามทางการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลผลกระทบจากสงครามการค้า และจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางการเยียวยาไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
คณะทำงานฯ ได้มีแนวทางการดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย โดยศึกษาผ่านข้อมูลสถิติการนำเข้าและส่งออกสูงสุด 15 รายการ ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาและจีน และการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มอุตสาหกรรมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ทั้งในมิติการนำเข้า การส่งออก การลงทุนภายในประเทศ และแนวทางการเยียวยาต่อภาครัฐ โดยเฉพาะคณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในประเด็น การส่งออกของประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP จึงมีผลให้ ส.อ.ท. จะต้องมีการศึกษาผลกระทบจาก Trade War อย่างรอบด้าน
ในเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาในสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง อาทิ สินค้าอาหารทะเลกระป๋อง ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้สอบถามกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เบื้องต้นรับทราบว่า การส่งออกในสินค้าดังกล่าวที่ลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และความไม่แน่นอนของวัตถุดิบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอในการผลิต รวมถึงการที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการ IUU (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing) ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง หรือสินค้าโซลาร์เซลล์ที่มีการส่งออกที่ลดลง โดยมีเหตุผลมาจากการยกเลิกโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีหน้าที่สำคัญในการวิเคราะห์สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าให้ชัดเจน และสร้างความเข้าใจกับภาครัฐ สมาชิก ส.อ.ท. และสาธารณชน ให้รับทราบข้อมูลและปัจจัยผลกระทบที่แท้จริง เพื่อให้วิเคราะห์สถานการณ์ เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่จะส่งผลให้ ประเทศไทยส่งออกได้ลดลง
คณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากสงครามทางการค้าฯ ส.อ.ท. มีมติว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจภายใต้สภาวะดังกล่าว จึงกำหนดข้อเสนอในระยะสั้น คือ ขอให้ภาครัฐส่งเสริมให้ผู้ประกอบการส่งออกไปทดแทนสินค้าที่สองประเทศมีข้อพิพาท หรือเน้นการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพอยู่แล้ว อย่างเช่นตลาดในอาเซียน ที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เทียบการตลาดส่งออกทั้งหมด รวมถึงภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง (Monitoring) ข้อมูลการนำเข้าส่งออก และการลงทุนภายในประเทศ บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพิธีการทางศุลกากร เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการไทย (Made in Thailand) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน