อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไก่งวงจะให้ผลผลิตเนื้อคุณภาพดี มีโปรตีนสูง และมีคลอเลสเตอรอลต่ำ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย แต่ความต้องการของตลาดยังเป็นในลักษณะตลาดเฉพาะ (Niche market) จึงจำเป็นต้องพัฒนาด้านระบบการตลาดของไก่งวงให้มากยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่งวง จึงได้ปรับปรุง "โรงปฏิบัติการสร้างมูลค่าเพิ่มสัตว์ปีก" ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการที่มีทั้งโรงฆ่าสัตว์ปีกและห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงครบวงจรอย่างแท้จริง สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ยึดแนวทาง "ตลาดนำการผลิต" ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย
ด้าน นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงในระดับภูมิภาค การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์จากไก่งวง และสำหรับ "โรงปฏิบัติการสร้างมูลค่าเพิ่มสัตว์ปีก" เป็นอาคารปฏิบัติการที่มีทั้งโรงฆ่าสัตว์ปีกและห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ที่มีมาตรฐานระดับ GMP ที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่งวงให้มีมูลค่าและปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งยังจะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดไก่งวงครบวงจรต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้เลี้ยงไก่งวงที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ จำนวน 4,687 ราย มีไก่งวง 74,588 ตัว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่มีการเลี้ยงมากที่สุดของประเทศ จำนวน 3,116 ราย มีไก่งวง 48,223 ตัว คิดเป็นร้อยละ 64.65 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ย. 60) นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้เก็บรวบรวมพันธุ์และทดสอบการเลี้ยงไก่งวง การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่งวง และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร เป็นผลทำให้มีผู้เลี้ยงมากกว่า 4,600 ราย จำหน่ายไก่งวงขุนมากกว่า 40,000 ตัว/ปี คิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 200 ตัน/ปี โดยมีมูลค่าการจำหน่ายไก่งวงมีชีวิต/ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่งวง มากกว่า 50 ล้านบาท/ปี ซึ่งจังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงไก่งวงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด