ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯแนะแนว ใช้สเต็มเซลล์และกัญชารักษาโรคมะเร็ง

ศุกร์ ๒๑ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๒๐
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แนะแนวทาง "การใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็ง"และบทบาทของ"กัญชา"กับโรคมะเร็งเพื่อไขข้อกระจ่างและขยายผลจากงานวิจัยที่ถูกต้องเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย

ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในรอบปีที่ผ่านมากระแสทางสังคมเรื่องของการนำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem cell) และการนำ "กัญชา" มาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีหลายหน่วยงานนำเรื่องราว และงานวิจัยที่ถูกต้องทั้งประเทศและต่างประเทศ มาใช้ประโยชน์อ้างอิง ดังนั้นราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงต้องการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ถึงความถูกต้องกับผลที่หากนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน

ผศ.ดร.นพ. นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์สเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์กับการรักษาโรคมะเร็งว่า สเต็มเซลล์คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัดและสามารถให้กำเนิดเซลล์ร่างกายชนิดต่าง ๆ ได้ โดยในร่างกายของเรามีสเต็มเซลล์หลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกันให้กำเนิดเซลล์ต่างชนิดกัน ขึ้นอยู่กับสเต็มเซลล์นั้นมาจากเนื้อเยื่อชนิดใด ปกติ

สเต็มเซลล์ของแต่ละเนื้อเยื่อจะทำหน้าที่สร้างเซลล์ใหม่ของเนื้อเยื่อชนิดนั้นขึ้นทดแทนที่สูญเสียไปในแต่ละวัน หรือหลังจากที่เนื้อเยื่อนั้นได้รับบาดเจ็บ สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปสร้างเซลล์ของอีกเนื้อเยื่อหนึ่งได้ เช่น สเต็มเซลล์เลือดไม่สร้างเซลล์สมองหรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ

การนำสเต็มเซลล์ไปใช้ทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับคือ การปลูกสเต็มเซลล์แทนสเต็มเซลล์ชนิดที่เสียไปให้สร้างเซลล์ของเนื้อเยื่อนั้น ๆ ในร่างกาย เช่น การปลูกสเต็มเซลล์เลือดจะทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดใหม่ขึ้นเป็นเวลายาวนานหลังปลูกถ่าย การใช้สเต็มเซลล์ผิวหนังสร้างแผ่นผิวหนังในผู้ป่วยแผลไหม้ เพื่อให้สร้างชั้นผิวหนังใหม่หลังปลูกถ่ายหลายปี อย่างไรก็ดีนอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น การปลูกสเต็มเซลล์ระบบอื่นยังทำได้ยากเนื่องจากสเต็มเซลล์แต่ละชนิดจะทำงานได้ต่อเมื่ออยู่ในบริเวณที่เหมาะสมจำเพาะเท่านั้น สเต็มเซลล์ของเนื้อเยื่ออื่น ๆ เมื่อฉีดเข้าเลือดไม่มีความสามารถที่จะเดินทางไปบริเวณที่เหมาะสมได้เอง มักถูกทำลายโดยไม่เกิดประโยชน์

นอกจากสเต็มเซลล์ที่พบในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ยังพบสเต็มเซลล์พิเศษ ซึ่งสามารถสร้างเซลล์ร่างกายได้ทุกชนิด ได้แก่ สเต็มเซลล์ตัวอ่อน (embryonic stem cells) หรือวิธีเปลี่ยนเซลล์ร่างกายทั่วไป ให้เป็นสเต็มเซลล์ที่มีความสามารถคล้ายสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่เรียกว่า ไอพีเอส (iPS cells) ซึ่งนำมาสู่ความหวังในการรักษาโรคที่ไม่มีทางรักษาในปัจจุบันหลายชนิด เพราะสามารถสร้างเซลล์ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถสร้างใหม่ได้อย่างไม่จำกัดในหลอดทดลอง เช่น เซลล์ท่อไต เซลล์สมอง เซลล์ตับอ่อน อย่างไรก็ดี ทั้ง ES และ iPS cells นั้นยังอยู่ในช่วงการทดลองขั้นต้น

ในผู้ป่วยทั้งโลกน้อยกว่า 10 ราย จึงยังไม่พร้อมจะนำมาใช้ในผู้ป่วยทั่วไป ที่สำคัญการนำไปใช้ต้องนำ ES และiPS cells มาเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดจำเพาะก่อนปลูกถ่าย ไม่ใช่ปลูกถ่าย ES และ iPS cells โดยตรงเพราะจะกลายเป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการแทน กระบวนการเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดจำเพาะต้องอาศัยเวลาหลายเดือนในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่มีความพร้อมซึ่งยังมีไม่มากทั่วโลก

การฉีดสเต็มเซลล์เพื่อหวังสรรพคุณอื่น ๆ สเต็มเซลล์ ซึ่งไม่ใช่การสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะ อาทิ การลดการอักเสบ เพิ่มการเกิดเส้นเลือดใหม่ ลดความเสื่อมของร่างกาย แก้สมองพิการ ความสวยงาม ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เพียงพอว่าจะเกิดประโยชน์เพียงพอ จนสามารถนำไปใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไป ยังไม่ใช่การรักษาที่แพทยสภารับรอง การนำไปใช้ในโรคมะเร็งที่เป็นที่ยอมรับเป็นเพียงการใช้สเต็มเซลล์เลือดปลูกสร้างระบบเลือดให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดจนระบบเลือดเสียไป ไม่ใช่ใช้สเต็มเซลล์ไปฆ่ามะเร็งโดยตรง ในทางตรงข้าม สเต็มเซลล์บางชนิดเป็นเซลล์พี่เลี้ยงที่ดีทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยโดยไม่เกิดประโยชน์

นอกจากการใช้สเต็มเซลล์แล้วในทางการแพทย์ มีการวิจัยมีการใช้เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อรักษามะเร็ง เช่น NK cells T-cells ไปจนถึงเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ดัดแปลงพันธุกรรมเช่น CAR T-cells แม้มีแนวโน้มจะพัฒนาจนใช้งานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการวิจัยไม่ใช่การรักษามาตรฐาน ซึ่งตามหลักจริยธรรมไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ เซลล์ภูมิคุ้มกันบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง จนถึงปัจจุบันมีมะเร็งน้อยชนิดที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในระยะยาว ในขณะที่ในมะเร็งหลายชนิดมีข้อมูลว่าวิธีที่ใช้กันในปัจจุบันยังไม่ได้ผล การจะตัดสินใจรับภูมิคุ้มกันบำบัดควรศึกษาข้อมูลให้ดีจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น สมาคมโลหิตวิทยา สำหรับการฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อหวังป้องกันมะเร็งรักษาสุขภาพไม่มีข้อมูลรองรับว่าได้ผล

สุดท้ายอยากฝากให้ประชาชนพึงตระหนักว่า ปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ แม้แต่ในยุโรปและอเมริกา มีคลินิกและโรงพยาบาลที่หวังกำไรให้บริการสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัดอื่น ๆโดยไม่ถูกหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวนไม่น้อย มีการโฆษณาอย่างกว้างขวาง ทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย ซึ่งความจริงนอกจากจะไม่ได้ผล เสียเงินจำนวนมากแล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งมีรายงานถึงพิการและแก่เสียชีวิตมาแล้ว นอกจากนั้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งการหยุดการรักษามาตรฐานไปพึ่งคลินิกในลักษณะดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้มะเร็งลุกลามทำให้เสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่ควรจะรักษาได้ไปอีกด้วย

ด้าน รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยและหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงเรื่องบทบาทของ"กัญชา"กับโรคมะเร็ง ว่าในปัจจุบันมีแรงผลักดันให้มีการนำกัญชามาใช้ในประเทศไทยอย่างมากจากหลายภาคส่วน เน้นเป้าหมายว่า กัญชาไม่ควรที่จะถูกจัดกลุ่มอยู่ในสารเสพติด และควรเปิดกว้างให้มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เสียงเรียกร้องที่ออกคล้ายกับว่า กัญชาเป็นพืชที่มีแต่ประโยชน์สูงมาก มีผลเสียน้อย ไม่ควรที่จะถูกปิดกั้นให้อยู่ในกลุ่มสารเสพติด หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการอ้างอย่างมากคือ ประโยชน์ของกัญชาในการรักษาโรคมะเร็ง

ในกัญชาจะมีสารกลุ่ม Cannabinoid เป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน สารเคมีที่ออกฤทธิ์หลักใน Cannabinoid ได้แก่ delta-9-THC ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท และทำให้มีอาการเคลิ้ม (high)อีกชนิดคือ Cannabidiol (CBD) จะลดอาการปวด การอักเสบ และความเครียดกังวล โดยไม่ทำให้เกิดอาการ highมากเท่า delta-9-THC

ผลข้างเคียงที่เกิดเมื่อใช้กัญชา หรือ Cannabinoid ที่พบได้ ได้แก่ ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนตัว ระบบการย่อยอาหารทำงานลดลง เวียนศีรษะ อารมณ์ซึมเศร้า หลอนและหวาดระแวง เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเกิดอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้ ได้แก่ อารมณ์หงุดหงิด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ เป็นตะคริว ลักษณะดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นเนื่องจากกัญชาและ Cannabinoid อาจทำให้เกิดอาการติดยาได้

ทั้งกัญชาและ Cannabinoids อาจมีประโยชน์ในการรักษาอาการบางชนิดที่เกิดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง Dronabinol และ Nabilone เป็น Cannabinoids ที่ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนำไปใช้ในการบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกี่ยวข้องกับการรับยาเคมีบำบัด มีงานวิจัยพบว่ากัญชาสามารถออกฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดได้ แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาป้องกันคลื่นไส้อาเจียน Prochlorperazine ซึ่งไม่เสพติด ในทางตรงกันข้ามหากใช้ในปริมาณมาก อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงจากกัญชาได้

ในด้านฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง มีการศึกษาว่ากัญชาสามารถออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในการเพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องแล็บ แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงผลของกัญชาต่อโรคมะเร็งในมนุษย์ กล่าวคือ แม้ว่าจะมีการศึกษากัญชาในห้องปฏิบัติการมานานแล้ว กลับไม่มีหลักฐานการนำเอากัญชามาใช้วิจัยเพื่อรักษามะเร็งในมนุษย์เลย นอกจากนี้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการนำกัญชามาใช้บรรเทาอาการหรือผลข้างเคียงจากโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ จากหลักฐานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ทางวิชาการ มีการศึกษาใช้ในการควบคุมอาการปวดจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคมะเร็งในปี 2015 ผลการวิจัยพบว่า การใช้การกัญชาร่วมไปกับการบำบัดความเจ็บปวดอื่นได้ผลการควบคุมความเจ็บปวดได้ไม่ต่างกับการรักษาที่ไม่ใช้กัญชา อีกทั้งกัญชายังทำให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่า ในปี 2006 มีการวิจัยนำเอากัญชา และ delta-9-THC มาใช้เพื่อกระตุ้นความเจริญอาหาร โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับกัญชา พบว่ากัญชาไม่สามารถเพิ่มความเจริญอาหารมากกว่ากลุ่มที่ไม่รับกัญชา

โดยสรุป จากหลักฐานทางการวิจัยที่มีคุณภาพ พบว่า ไม่มีการนำกัญชามารักษาโรคมะเร็งในมนุษย์เลย ในด้านการรักษาอาการเจ็บปวดหรือคลื่นไส้อาเจียน ก็มียาที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้วโดยไม่ใช่สารเสพติด ในด้านการลดความเจ็บปวดหรือกระตุ้นความอยากอาหารก็ได้ผลไม่ชัดเจน ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกไม่รับรองให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคมะเร็งแต่อย่างใด แม้ว่ากัญชาอาจมีผลในการรักษาโรคเกร็ง ลมชักได้ แต่การวิจัยกัญชามาใช้รักษาโรคมะเร็งน่าจะไม่ได้ประโยชน์ จึงไม่ควรกล่าวอ้างหลอกลวงว่ากัญชาสามารถรักษามะเร็งได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าใจผิด และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ