อาจารย์ จุฬาฯ และ มจธ. คว้านักวิจัยแกนนำ 2561 รับงบวิจัยขนาดใหญ่ 20 ล้านบาท สานต่องานด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์

จันทร์ ๒๔ ธันวาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๑๓
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผู้ได้รับรางวัล "นักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2561" ได้แก่ ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากโครงการวิจัยทางการแพทย์ฟื้นฟูภาพดีเอ็นเอ และตรวจกรองมะเร็งจากโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว และ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากโครงการวิจัยพัฒนากระบวนการถ่ายเทความร้อนสมัยใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รับทุนสนับสนุนวิจัย 20 ล้านบาทต่อโครงการในระยะเวลา 5 ปี ซึ่ง สวทช. สนับสนุนอย่างต่อเนื่องในการให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่ กับนักวิจัยแกนนำที่มีขีดความสามารถสูง ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ คล่องตัว และเกิดทีมวิจัยที่เข้มแข็ง รวมถึงมีส่วนเชื่อมโยงภาคความรู้ ภาคการผลิตและบริการ และภาคสังคม เพื่อยกระดับการวิจัยและพัฒนาของไทยในอนาคต โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมแสดงความยินดี

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า โครงการนักวิจัยแกนนำเป็นกลไกหนึ่งที่ สวทช. เล็งเห็นว่า สามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากข้อเสนอโครงการวิจัยที่ส่งเข้ามารับการพิจารณาในปี 2561 จำนวน 13 โครงการ คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ในการคัดเลือกนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2561 และกลุ่มวิจัยของนักวิจัย 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร สังกัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการวิจัย เรื่อง "การพัฒนานวัตกรรมใหม่ในทางการแพทย์ที่มีมูลค่าและคุณค่าสูง: ฟื้นฟูภาพดีเอ็นเอ โดยโมเลกุลที่ทำให้จีโนมเสถียร และการตรวจกรองมะเร็งจากโปรตีน หรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว และศาสตราจารย์ ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ สังกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากโครงการวิจัย เรื่อง "การพัฒนากระบวนการถ่ายเทความร้อนสมัยใหม่ สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต"

โดย ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร เป็นนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์ และสภาวะเหนือพันธุกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ผลงานวิจัยที่ผ่านมาได้รับการยอมรับและตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ สำหรับโครงการวิจัยนี้มุ่งหมายจะค้นคว้า ค้นพบทฤษฎีใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การลดอายุและเพิ่มความเสถียรของดีเอ็นเอ ด้วยโมเลกุลที่ทางทีมวิจัย เรียกว่า มณีแดง ที่จะสามารถใช้แก้ไขความชราของเซลล์ได้ งานวิจัยนี้อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกได้ในอนาคต และ 2) การพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งจากโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว ที่จะมีความไวและจำเพาะสูงกว่าวิธีในปัจจุบัน ทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

และ ศาสตราจารย์ ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ เป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นด้านวิศวกรรมเครื่องกล งานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การถ่ายเทความร้อน อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน จากกรอบความคิดการวิจัยที่ว่า หากอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม การถ่ายเทความร้อนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยเพิ่มสมรรถนะของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน งานวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษา การเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายเทความร้อนของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ซึ่งจะได้หลักการทางวิชาการ สำหรับการออกแบบ และปรับปรุงกระบวนการการถ่ายเทความร้อนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น สามารถนำไปใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลงานวิจัยเหล่านี้ จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของโลกในอนาคต

"ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยแกนนำทั้ง 2 ท่านจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้นแบบเทคโนโลยี และสิทธิบัตร จำนวนหนึ่ง โดยองค์ความรู้ใหม่ที่ค้นพบ ตั้งเป้าหมายการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มี Impact Factor สูง ระดับ Nature Index Journal หรือในวารสารระดับ Top ของสาขาวิศวกรรมศาสตร์ นับเป็นการมุ่งเน้นการผลิตผลงานวิจัยเชิงคุณภาพสูงให้มากขึ้น รวมถึงมีส่วนเชื่อมโยงระหว่างภาคความรู้ ภาคการผลิตและบริการ และภาคสังคม เพื่อยกระดับการวิจัยและพัฒนาของไทยในอนาคตด้วย" ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. และเลขานุการโครงการนักวิจัยแกนนำ กล่าวเสริมว่า "โครงการนักวิจัยแกนนำ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง ได้สร้างสรรค์งานอย่างมีอิสระทางวิชาการ เป็นพลังขับเคลื่อนในการนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีนักวิจัยแกนนำภายใต้การสนับสนุนของ สวทช. ทั้งสิ้น 17 ท่าน เป็นด้านการแพทย์ 11 ท่าน ด้านเกษตรและอาหาร ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านละ 2 ท่าน ซึ่งนักวิจัยแกนนำและทีมวิจัยดังกล่าวได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ในหลากหลายสาขาวิชา สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูง มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สิทธิบัตร การผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอก อีกทั้งยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะแล้ว"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ