นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ถูกต้องปลอดภัย เกษตรกรทำได้ไม่ยุ่งยาก ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรนิยมใช้ในปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายชนิด หลากหลายชื่อการค้า บางครั้งเกษตรกรใช้สารเคมีผสมรวม ๆ กันเพราะมีความเชื่อว่าจะได้ผลดี แต่บางครั้งก็ไม่ทราบว่าเป็นชนิดเดียวกันและยังเป็นชนิดที่มีความเป็นพิษสูงเกษตรกรจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเกษตรกรควรศึกษารายละเอียดที่ระบุอยู่บนผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้เข้าใจ ก่อนที่จะใช้สารเคมี
ระดับความเป็นพิษของสารเคมีสามารถสังเกตได้จากสีของฉลากภาชนะบรรจุ ได้แก่ แดง เหลือง และน้ำเงิน แสดงถึงความเป็นพิษร้ายแรง ปานกลาง และเล็กน้อยตามลำดับ โดยเกษตรกรสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้จากฉลากติดภาชนะบรรจุ ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับระดับความเป็นพิษ อาการภายหลังจากการได้รับสารเคมี การปฐมพยาบาลเบื้องต้น วิธีการป้องกันอันตราย อุปกรณ์ป้องกันอันตราย วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น กรณีสารเคมีหกรดเปรอะเปื้อน หรือเกิดไฟไหม้ เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องศึกษาวิธีการใช้อย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้ และต้องรักษาฉลากที่ติดกับภาชนะบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพเดิม มองเห็นได้ง่าย สามารถหยิบอ่านได้ทันที เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ข้อมูลในฉลากอาจช่วยให้แพทย์รักษาท่านหรือญาติพี่น้องได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
นายสำราญ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเกษตรกรศึกษาฉลากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่จะใช้ได้อย่างถูกต้องแล้ว ทำให้สามารถเลือกใช้สารเคมีชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติในการทำลายศัตรูพืชเหมือนกันแต่มีความเป็นพิษต่ำกว่า เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรเอง แต่นอกจากการดูระดับความเป็นพิษแล้ว เกษตรกรควรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตรงกับศัตรูพืชที่พบ หรืออาจเลือกใช้สารชีวภาพ เช่น มูลไส้เดือน ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใช้วิธีปลูกพืชหมุนเวียน และใช้แมลง เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นสารหรือส่วนประกอบของสารที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้น หรืออาจสกัดจากธรรมชาติออกมาในรูปของสารเคมี สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ปาก การหายใจ และผิวหนัง จึงไม่ควรประมาทขณะใช้สารเคมี เช่น ดูดหรือเป่าหัวฉีดพ่น และควรสวมหน้ากาก ถุงมือ หมวก แว่นตา และเสื้อผ้ามิดชิด