โชว์ผลธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ตอบโจทย์หนุนเกษตรกร แปลงวัสดุเหลือใช้สู่ปุ๋ยหมัก-น้ำหมักชีวภาพ

ศุกร์ ๐๔ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๒:๔๖
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นเจ้าภาพหลัก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีการผลิตและใช้ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลด ละ เลิกการเผา ด้วยการนำเอาวัสดุเหลือใช้จากไร่นามาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นการลดต้นทุนในการผลิต อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการ ในความดูแลของสถานีพัฒนาที่ดินในแต่ละจังหวัด รวมถึงหน่วยงานภายในกรมพัฒนาที่ดินที่มีศักยภาพในการผลิตรวม 87 แห่ง โดยเน้นพื้นที่ของเกษตรกรหรือหมอดินอาสาหรือพื้นที่ที่สามารถใช้เป็นสถานที่ดำเนินการ

การดำเนินโครงการฯ กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสอนวิธีการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ให้แก่เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งขึ้นเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในชุมชน โดยมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น มูลสัตว์ กากน้ำตาล ยูเรีย ถังหมัก สารเร่ง พด. ปีละครั้ง หลังจากนั้นเกษตรกรก็จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์เองตามศักยภาพของกลุ่ม และเกษตรกรบางรายที่มีความสนใจจะนำความรู้ไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือน

จากการประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ปี 2561 ของ สศก. พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 3,000 ราย ใน 77 จังหวัด โดยเกษตรกรประมาณ 1,500 ราย นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือน โดยผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง 1.5 ตัน/ครัวเรือน จากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา อาทิ มูลสัตว์ ฟางข้าว แกลบ รำ ขี้เถ้า กากมัน ใบไม้ หญ้าแห้ง ซังข้าวโพด และสามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพได้เฉลี่ย 300 ลิตร/ครัวเรือน จากเศษอาหาร เศษผัก ปลา หอยเชอรี่ และผลไม้ ทั้งนี้ สามารถคิดเป็นมูลค่าปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพรวมประมาณ 12,000 บาท/ครัวเรือน และคิดเป็นผลประโยชน์สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 7,517 บาท/ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกษตรกรที่เหลืออีกประมาณ 1,500 ราย ที่ยังไม่มีการนำความรู้มาปรับใช้ เนื่องจากมีภารกิจมาก อายุมาก และขาดวัสดุที่จำเป็นในการผลิต เช่น มูลสัตว์ กากน้ำตาล และถังหมัก โดยหลังจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีแผนที่จะสนับสนุนให้ธนาคาร/สหกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่ รวบรวมวัสดุที่จำเป็นข้างต้นมาจำหน่ายในราคาขายส่ง หรือให้เกษตรกรยืมโดยมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ยังพบว่า เกษตรกรที่ผลิตปุ๋ยหมักใช้เองนั้นจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมโดยลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาลงถึงเท่าตัว ซึ่งเป็นการลดมลพิษทางอากาศและลดภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพแวดล้อมดี เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน ดินร่วนซุยมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือนทำให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น เป็นผลดีต่อสุขภาพทั้งตัวเอง และผู้บริโภคอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรทุกรายเห็นประโยชน์และหันมาเริ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือนมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version