ทั้งนี้ ได้มีการประชุมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา เพื่อหารือวางแนวทางการป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติ โดยแต่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่จากแต่ละหน่วยงานในสังกัดเป็นผู้ประสานงานเพื่อแจ้งข่าวสารและรับรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ โดยจะสรุปรายงาน 2 ช่วงให้ทราบ (เช้า-เย็น) พร้อมกันนี้ให้แต่ละหน่วยงานไปตั้งศูนย์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ขณะนี้ กรมชลประทาน และกรมปศุสัตว์ ได้จัดตั้งแล้ว ส่วนหน่วยงานอื่นๆ กำลังเร่งดำเนินการ
อีกทั้ง ได้แจ้งไปยังเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพื่อให้เตรียมการรับมือ และประสานงานการปฏิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด โดยศูนย์ของหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปช่วยเสริมในการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ประชาชนร้องขอ รวมทั้งประเมิน วิเคราะห์ สถานการณ์เพื่อจัดทำพื้นที่เสี่ยงด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ และแผนป้องกันและเผชิญเหตุ ตลอดจนบูรณาการข้อมูลสถานการณ์ การให้ความช่วยเหลือ และแจ้งแผนเผชิญเหตุและรายงานสถานการณ์ให้กระทรวงฯ ทราบเพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด กระทบผลผลิตทางการเกษตร พืช สัตว์ ประมง ให้น้อยที่สุด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมการดังกล่าวตั้งแต่ก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นแล้ว
"หลังจากวันนี้ แต่ละหน่วยงานจะไปสำรวจความเสียหายด้านการเกษตรและเข้าให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด ด้านปศุสัตว์ กำหนดจุดอพยพสัตว์ สำรองเสบียงสัตว์ ด้านพืช ด้านประมง กามส่งเสริมการเกษตร และกรมประมงได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมและช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกด้วยแล้ว" นายสุรจิตต์ กล่าว