กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยการ บรรยายพิเศษโดย Douglas Woodring ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Ocean Recovery Alliance องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากอเมริกาและฮ่องกง ที่ร่วมพูดคุยกับน้องๆ และผู้พิการทาง สายตากว่า 50 คนอย่างเป็นกันเอง ก่อนจัดฉายหนังรอบพิเศษด้วยระบบเสียงบรรยายไทยควบคู่กับ การบรรยายโดยนักพากย์จิตอาสา ที่บอกเล่าเรื่องราวให้น้องๆ สนุกจินตนาการอย่างเพลิดเพลิน โดยหนึ่งในนักเรียนที่เข้าร่วมชมหนังรอบพิเศษ 'น้องเข็ม' เข็มภัสสร พุทธศร นักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า
"รู้สึกดีใจมากค่ะ เพราะหนูชอบทะเลมาก แม้จะมองไม่เห็นแต่พอได้ฟังเรื่องราวในหนังแล้วตกใจค่ะ ไม่อยากให้สัตว์ทะเลกินพลาสติกเข้าไปเลย หนูชอบเรื่องเพนกวินในแอฟริกาค่ะ (Penguin Protectors) ในหนังบอกว่า มันใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว หนูอยากให้มันปลอดภัยและดีใจที่มีพี่ๆ อาสาสมัครคอยดูแลมัน พอฟังจบทุกเรื่องหนูตั้งใจว่า จะทิ้งขยะให้ลงถังและไม่ทิ้งถุงพลาสติก บนถนนอีกแล้ว เวลาไปเที่ยวทะเลก็ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ หนูจะเอาเรื่องราวที่ได้ฟังจากเทศกาลนี้ไปบอก คุณพ่อคุณแม่และญาติ ด้วยค่ะ สุดท้ายนี้หนูอยากขอบคุณทุกคนที่ทำให้พวกเรามีโอกาสได้ดูหนังดีๆ และไม่ลืมพวกเรานะคะ"
เช่นเดียวกับ 'ยา' อารยา นันตยุ หนึ่งในผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมชมหนังรอบพิเศษที่เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เธอมองเห็นเหมือนคนปกติ และหลงใหลการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ กระทั่งวันหนึ่ง จอประสาทตาเสื่อมและทำให้มองไม่เห็น อีกต่อไป ทว่าเธอยังคงคิดถึงความสวยงามของโลก ใต้ทะเลและตัดสินใจดำน้ำอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เธอไม่อาจรับรู้ความสวยงามด้วยดวงตา ทว่ารับรู้ทุกสรรพสิ่งใต้ทะเลสีครามด้วยหัวใจ
"ทุกครั้งที่ไปทะเลเหมือนเราได้รับการบำบัดเยียวยาจิตใจจากธรรมชาติ พอได้มาดูหนังในเทศกาล นี้ทำให้เรายิ่งตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกและมลพิษในทะเล อีกอย่างเราเพิ่งจะเป็นจิตอาสา ช่วยขัดตะไคร่น้ำในบ่อเต่าทะเลที่เกาะมันใน เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า เต่าทะเลกินพลาสติกเข้าไป ทำให้มันป่วย และตายเร็วขึ้น ฟังแล้วสะเทือนใจมาก เพราะสัตว์ที่อ่อนโยนและไม่เคยทำร้ายใคร อย่างพวกมันกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ตั้งแต่นั้นมาชีวิตเปลี่ยนไปเลยค่ะ
"พอได้ดูสารคดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเล (Fragile) ทำให้เข้าใจว่า แม่เต่าจะวางไข่ในสถานที่ที่ เงียบสงบ ปราศจากแสงไฟและเสียงรบกวน พอลูกเต่าฟักออกมาจากไข่จะต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ ภายใน 72 ชั่วโมง แต่การที่คนนำลูกเต่าไปเพาะเลี้ยงในบ่อกลับเป็นการซ้ำเติม และลดโอกาสในการ รอดชีวิต ตามธรรมชาติของมัน ซึ่งเป็นความปรารถนาดีบนความเข้าใจผิดของมนุษย์ แม้วันนี้เราจะไม่ สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างการอนุรักษ์เต่าทะเลได้ อย่างน้อยเราแค่ทิ้งขยะลงถัง และคัดแยก พลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล เท่านี้เราก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว"
หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกิจกรรมในครั้งนี้ 'แจ็ค' รณยุทธ อิงสา ผู้อำนวยการ มูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวชื่นชม Ocean Recovery Alliance ที่เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมในผู้พิการทางสายตา
"ครั้งแรกที่ได้รับการติดต่อจากคุณดักลาส ผมรู้สึกแปลกใจระคนดีใจในเวลาเดียวกัน ที่องค์กร ระดับโลกมองเห็นความสำคัญของผู้พิการ ผมประทับใจที่เขามองเห็นความเท่าเทียมในการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของคนตาบอด เพราะทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่ง ของการปกป้องและ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ อีกอย่างทะเลเป็นหนึ่งในสถานที่ที่น้องๆ ผู้พิการทางสายตาอยากไป มากที่สุด เรามักจะพาน้องๆ ไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในทะเลอยู่แล้ว แต่การฉายหนังสำหรับ คนตาบอดถือเป็นเรื่องดีมากๆ ครับ ในฐานะที่เมืองไทยเป็นประเทศที่รุ่มรวย ด้วยทะเลและหาดทราย ที่สวยงาม การจะรักษาและดูแลธรรมชาติต้องปลูกฝังให้คนไทยช่วยกันคิดสักนิดก่อนทิ้งขยะ กิจกรรมนี้ยังช่วยให้น้องๆ นำเรื่องราวที่ได้ชมไปแบ่งปันให้ครอบครัวได้ด้วย"
นอกจากการจัดแสดงภาพยนตร์รอบพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตา Bangkok Ocean In Motion Film Festival 2018 ยังเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ สามารถขอรับไฟล์ภาพยนตร์ทั้ง 6 เรื่องไปเผยแพร่ได้อีกด้วย เพียงกรอกแบบฟอร์มขอรับและเผยแพร่ภาพยนตร์สั้นได้ที่ https://bit.ly/2S3Qbkq หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/BKKOceanInMotion/