ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ม.วลัยลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิชาการด้านการเกษตร ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา เกษตรกรและผู้ที่สนใจ และเล็งเห็นว่าซีพีเอฟเป็นผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ที่มุ่งพัฒนาภาคการเกษตรของไทย และมีแนวคิดที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย ในการยกระดับภาคเกษตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านกลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จึงร่วมกันดำเนินโครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่มาตรฐานสากลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคมของภาคธุรกิจ
"ขอขอบคุณซีพีเอฟที่สนับสนุนงบประมาณ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และเป็นตลาดรองรับผลผลิต โดยบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการดำเนินการและร่วมเรียนรู้กับบริษัท เพื่อให้ฟาร์มสาธิตนี้สามารถต่อยอดงานวิจัยสู่การปฏิบัติจริง ที่สำคัญนักศึกษาและเกษตรกรจะได้เข้าใจระบบการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผลผลิตสัตว์มีคุณภาพ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต สู่ความมั่นคงทางอาชีพ ทั้งยังมีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งมีความพร้อมที่จะสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ของภูมิภาคต่อไป" ศ.ดร.สมบัติ กล่าว
ด้าน นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งหวังในการร่วมพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยแก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยเฉพาะการผลักดันให้ฟาร์มสาธิตนี้ เป็นแหล่งฝึกงานและแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการเกษตรอุตสาหกรรมและปศุสัตว์ แก่นักศึกษาสาขานวัตกรรมการเกษตรและการประกอบการ และสาขาอื่นๆ นับเป็นการสร้างการจัดเกษตรนำสมัยด้วยเทคโนโลยี ช่วยขับเคลื่อนการเกษตรด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐฯ ที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม และยังถือเป็นการสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยแก่ชุมชน
"ซีพีเอฟภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาให้กับประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฟาร์มสาธิตจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการจัดการการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ ตั้งแต่การจัดการด้านสถานที่ ผลผลิต และการจัดการของเสียต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษา เกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่องานวิชาการและการค้นคว้าวิจัยของมหาวิทยาลัย และประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง" นายสุขสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทสร้างโรงเรือนสุกรขุน 3 หลัง ความจุรวม 650 ตัว โรงเรือนไก่ไข่ 1 หลัง ความจุแม่ไก่ 5,000 ตัว ติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยงมาตรฐาน สร้างระบบไบโอแก๊สสำหรับบำบัดของเสีย และติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ถือเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ปล่อยของเสียออกจากฟาร์ม (Zero Waste Agriculture) พร้อมสร้างระบบป้องกันกลิ่นท้ายโรงเรือนตามนโยบายฟาร์มสีเขียว (Green Farm) และสร้างสำนักงานฟาร์ม ห้องประชุม ห้องพ่นน้ำฆ่าเชื้อ และบ้านพักคนงาน