ร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ....

อังคาร ๐๘ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๖:๓๔
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฯ) ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฯ ดังกล่าวได้ถูกยกร่างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตนเองเป็นครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นการเฉพาะ ทำให้เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเลขึ้นได้มีการนำกฎหมายการประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ และบางกรณีได้นำกฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ และความไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยทางทะเล ตลอดจนภาคการประกันภัยทั้งระบบ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฯ ประกอบด้วย 15 หมวด 134 มาตรา ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

1. กำหนดบทนิยาม ความหมาย คำจำกัดความ ภายใต้การประกันภัยทางทะเล และได้กำหนดให้ "สัญญาประกันภัยทางทะเล" บังคับกับการประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเลทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คู่สัญญาสามารถตกลงใช้พระราชบัญญัตินี้กับการประกันภัยขนส่งสินค้าทางบกและทางอากาศด้วย

2. กำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับประกันภัย และผู้เอาประกันภัย ดังนี้

2.1 กำหนดหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยในการนำเสนอความเสี่ยงภัย ตลอดจนข้อมูลที่ผู้เอาประกันภัยควรรู้และควรเปิดเผยในสัญญาประกันภัยทางทะเลเพื่อธุรกิจ

2.2 กำหนดหลักเกณฑ์ผลใช้บังคับและสิทธิของคู่สัญญาในกรณีมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น

2.3 กำหนดสิทธิของผู้รับประกันภัยในการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยไม่ได้ทำหน้าที่นำเสนอความเสี่ยงภัยอย่างเป็นธรรมต่อผู้รับประกันภัยในสัญญาประกันภัยทางทะเลที่มิใช่เพื่อธุรกิจ

2.4 การกำหนดสิทธิของผู้รับประกันภัย กรณีผู้เอาประกันภัยฉ้อฉล

3. กำหนดสาระสำคัญ และรายการต่าง ๆ ที่ต้องแสดงในกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นวิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การลงลายมือชื่อ การประทับตรา รวมทั้งกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยสามารถแก้ไขคำรับรองได้ก่อนเกิดความเสียหาย

4. กำหนดวิธีการคำนวณมูลค่าที่เอาประกันได้ของตัวเรือ ค่าระวาง สินค้า และวัตถุที่เอาประกันอื่น ๆ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยจัดทำประกันภัยให้เหมาะสมกับมูลค่าของวัตถุที่เอาประกันภัย รวมทั้งกำหนดความหมายและหลักการของส่วนได้เสียในการประกันภัยทางทะเลให้ชัดเจน เนื่องจากมีความแตกต่างจากหลักส่วนได้เสียในการประกันภัยประเภทอื่น

5. กำหนดลักษณะของความเสียหายที่การประกันภัยทางทะเลให้ความคุ้มครองและกรณีที่ไม่ให้ความคุ้มครอง เช่น ความเสียหายโดยการจงใจ (Willful Misconduct by the assured) และความเสียหายบางอย่างที่ต้องมีการตกลงเป็นพิเศษจึงจะมีความคุ้มครอง เช่น ความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงจากความล่าช้า (Loss caused by delayed) รวมทั้งกำหนดนิยามความเสียหายสิ้นเชิง (Total Loss) และความเสียหายบางส่วน (Partial Loss) เพื่อให้ผู้เอาประกันและผู้รับประกันทราบหลักการในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น

6. กำหนดหลักการและหน้าที่ในการชำระเบี้ยประกันภัย โดยผู้รับประกันภัยจะออกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อมีการชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว และกรณีการทำประกันภัยผ่านนายหน้าประกันภัยให้ถือว่าความผูกพันตามสัญญาประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยอาจมีผลสมบูรณ์แล้ว

7. กำหนดวิธีการคำนวณจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในกรณีที่วัตถุที่เอาประกันภัยเสียหายสิ้นเชิงหรือเสียหายบางส่วนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งแบบกำหนดมูลค่า และแบบไม่กำหนดมูลค่า รวมทั้งกำหนดวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการประกันภัยซ้ำซ้อน (Double Insurance) สำหรับทำประกันภัยไว้มากกว่าหนึ่งแห่ง และกำหนดความรับผิดของผู้รับประกันภัยแต่ละรายในกรณีที่จำนวนเงินเอาประกันภัยรวมสูงกว่าความเสียหายหรือจำนวนวินาศภัยที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนและวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ชัดเจนทั้งแก่ผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัย

8. กำหนดอายุความในการเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับสัญญาประกันภัยตรง ให้ใช้อายุความ ๒ ปี แต่สำหรับสัญญาประกันภัยต่อ ให้ใช้อายุความ 6 ปี

ทั้งนี้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฯ ดังกล่าว จะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายการประกันภัยทางทะเลของตนเองเป็นครั้งแรก อันถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญที่จะเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมการประกันภัยทางทะเลและการขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้ และเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทของศาลที่จะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความในคดีที่ไม่ต้องนำสืบตามหลักกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในผลแห่งคดี อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจการประกันภัยของประเทศไทย

โดยหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเลฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

02 273 9020 ต่อ 3686

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ ก.พ. รฟท. จัดรถไฟส่งผู้ชุมนุมขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ
๒๑ ก.พ. BCPG เผยผลการดำเนินงานปี 2567 กำไรสุทธิกว่า 1,800 ล้านบาท เติบโต 65% จากปีก่อน พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง
๒๑ ก.พ. เกรท นำทีมศิษย์เก่า ฟอส-แบงค์ ฉลองครบรอบ 40 ปี ม.รังสิต เปิดตัว คริส หอวัง กับบทบาท ครูผู้ฮีลใจนักศึกษา แห่งสถาบัน
๒๑ ก.พ. ธนาคารกรุงเทพ ประกาศจ่ายเงินปันผล หุ้นละ 8.50 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2567
๒๑ ก.พ. GULF เคาะแล้ว! อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อายุ 4-10 ปี ที่ 3.00 - 3.55% ต่อปี พร้อมเสนอขายประชาชนทั่วไป 27-28 ก.พ. และ 3 มี.ค.68 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 10
๒๑ ก.พ. Selena Gomez, benny blanco, Gracie Abrams ส่งเพลงสนุกๆ โดนใจ Gen-Z Call Me When You Break Up การรวมตัวของอเวนเจอร์วงการเพลงป็อปที่ทุกคนรอคอย!
๒๑ ก.พ. MBK Care อาสาทำดี ปันน้ำใจสู่สังคม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ ปีที่ 7 ส่งมอบความสุขเพื่อผู้พิการทางสายตา พร้อมสิ่งของอุปโภคบริโภค
๒๑ ก.พ. บางจากฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของกลุ่มบริษัทบางจาก
๒๑ ก.พ. สวยทุกลุค ชมพู่ - อารยา ถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ของสาว GUESS ในแคมเปญคอลเลกชัน Spring Summer 2025 สีสันแห่งฤดูกาลใหม่
๒๑ ก.พ. วช. เปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร ต้นแบบการยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรของจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ