กระทรวงเกษตรฯ ปลื้ม “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา” สร้างรายได้มั่นคงแก่เกษตรกร ระบบสหกรณ์การเกษตรเข้มแข็ง

พุธ ๐๙ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๑:๕๐
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (แปลงนำร่อง) ในโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดภายในประเทศ และช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีรายได้ที่มั่นคง โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่ตลาดมีความต้องการ ซึ่งในช่วงระยะแรกของการดำเนินโครงการได้ทดลองส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง ในอำเภอพิชัย อุตรดิตถ์ โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 221 ราย และมีเกษตรกร 67 รายเพิ่งหันมาลองปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งเกษตรกรทั้งหมดเป็นสมาชิกสหกรณ์ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกหม้อ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด พื้นที่เพาะปลูก 3,240 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วประมาณ 3,800 ตัน สหกรณ์รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด และส่งต่อให้สหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด ซึ่งเป็นแม่ข่ายในการรับซื้อผลผลิตจากทั้ง 4 สหกรณ์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพอบลดความชื้นให้อยู่ที่ 14.5% และส่งจำหน่ายให้กับบริษัท CPF และบริษัท เบทาโกร จำกัด ซึ่งราคาขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 9.80 บาท เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ที่ความชื้นประมาณ 27 - 30% โดยราคาที่จุดรับซื้อของสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จ.อุตรดิตถ์ ราคาประมาณ 7-8 บาท/กก. เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 8,365 บาทต่อไร่ เมื่อหักต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,810 บาทต่อไร่ จะทำให้เกษตรกรมีกำไรเฉลี่ย 4,555 บาท/ไร่

"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมแผนการดำเนินงานตั้งแต่ความพร้อมของระบบชลประทาน ความเหมาะสมของสภาพดินในพื้นที่ที่จะปลูกข้าวโพด ตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าความชื้นจะเกิน 14% แต่ราคาข้าวโพดไม่ต่ำกว่าจากที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีความต้องการของตลาดโลก และแม้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะมีการระบาดของหนอนกระทู้ก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ก็สามารถจำกัดการแพร่ระบาดศัตรูพืชได้ ซึ่งนับว่าทั้งหมดนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนการปลูกพืชอื่นนอกจากการทำนา เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทั้งราคาข้าวและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชอื่นตามความต้องการของตลาด"

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับแผนการดำเนินงานโดยมีการบูรณาการเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ ร่วมกันทำงานในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพดินเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างละเอียด ตลอดจนได้ถ่ายทอดเทคนิคการปลูก การดูแลรักษา การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางแผนการตลาดกับสหกรณ์ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตและเชื่อมโยงกับภาคเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้ามารับซื้อข้าวโพดของเกษตรกร โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบครบวงจร

สำหรับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ในปีการผลิต 2561/62 มีเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 96,928 ราย พื้นที่ 814,916 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2562) โดยการรับสมัครในปี 2561/2562 นี้ ยังรับสมัครไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งเกษตรกรมีความสนใจที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ จะใช้หลักการตลาดนำการผลิต วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของตลาดและส่งเสริมการปลูกพืชที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยใช้โมเดลการปลูกข้าวโพดเป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมปลูกพืชอื่นๆ อาทิ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง พืชผักต่างๆ ฯลฯ ต่อไป

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างความสำเร็จในแปลงนำร่องเป็นของนายสมพร แตงน้อย เนื้อที่ 10 ไร่ เพาะปลูกเดือนสิงหาคม 2561 และเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.61 ขายให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ในระดับความชื้นที่ 28% ราคา 7.20 บาท/กก. ทำให้มีรายได้ 86,400 บาท และมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 4,850 บาท ส่วนแปลงของนายทองเหลือ มูลนิล สมาชิกสหกรณ์ ที่รมว.กษ. เป็นประธานในการเก็บเกี่ยวข้าวโพดในแปลงนี้ มีเนื้อที่ปลูก 3 ไร่ ลงทุนไป 11,370 บาท เริ่มเพาะปลูกเมื่อวันที่ 3 กันยายน 61 และจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในวันนี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 1,200 ก.ก. ความชื้นประมาณ 27% ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ทำให้นายทองเหลือ มีรายได้ทั้งสิ้น 28,800 บาท เมื่อหักต้นทุนในการเพาะปลูกผลิต 11,370 บาท จะมีกำไร 17,430 บาท และได้กำไรเฉลี่ย 5,810 บาทต่อไร่.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ