DTAC น่าจะสามารถบริหารจัดการแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการชำระค่าตอบแทนดังกล่าวได้ไม่ยากนัก เนื่องจาก DTAC มีเงินสดจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 อย่างไรก็ตามหากบริษัทดำเนินการชำระเงินดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-adjusted net leverage) ที่ฟิทช์ประมาณการไว้สำหรับปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่า จาก 2.1 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาลดอันดับเครดิตหากอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทสูงกว่าระดับดังกล่าว ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน ที่ 1.7 เท่า
ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2562 หลังจากที่บริษัทชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz และ 900 MHz โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และเป็นข้อจำกัดสำหรับความสามารถในการแข่งขันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายและการปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัท น่าจะใช้เวลาหลายไตรมาส และการปรับตัวดีขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้
สัญญาระงับข้อพิพาทดังกล่าวจะมีผลก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยสัญญาระงับข้อพิพาทดังกล่าวมิได้รวมถึงข้อพิพาทเรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่เกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต และข้อพิพาทเรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่เกี่ยวกับค่าเชื่อมโยงต่อโครงข่าย
ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะได้รับประโยชน์จากการที่อุตสาหรรมโทรคมนาคมไทย ได้เปลี่ยนผ่านไปเป็นระบบใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2555 จากระบบสัญญาสัมปทานเดิมซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการเอกชนและบริษัทโทรคมนาคมของรัฐ โดยระบบใบอนุญาตมีความโปร่งใสมากกว่า และทำให้ให้มีการแข่งขั้นอย่างเท่าเทียมและธรรมระหว่างผู้ประกอบการซึ่งรวมถึง DTAC มากขึ้น