นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Suthas Ruangmanamongkol, Group Chief Executive) เปิดเผยว่า ปี 2562 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ โดยความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกจากหลายปัจจัยคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อเนื่องในปีนี้ อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกที่ยังคงยืดเยื้อ และหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตามที่มีการคาดการณ์ ผลกระทบต่อตลาดทุนโลกจะมากกกว่าผลกระทบที่เกิดจากสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปทุกประเทศรวมกันมีขนาดใหญ่กว่า สำหรับประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับ 4% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก แต่อุปสงค์ในประเทศที่ยังขยายตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาทิ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉะบัง ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้และมีเม็ดเงินลงทุนเป็นสองเท่าของปี 2561 จะทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นและลงทุนตามมา
กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในปี 2562 ยังคงตั้งเป้าเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยจะยกระดับบริการให้คำแนะนำทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแบบองค์รวม หรือ Holistic Financial Advisory โดยครอบคลุมการวางแผนการเงินที่มีการคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับลูกค้าทางหนึ่ง และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจในยุคสังคมผู้สูงอายุและเทรนด์การตื่นตัวด้านสุขภาพ ซึ่งทิสโก้ตั้งเป้าหมายจะต่อยอดการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (Investment Advisory) ให้ครอบคลุมการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพที่สามารถให้คำแนะนำลูกค้าในการวางแผนคุ้มครองสุขภาพที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายอย่างคุ้มค่า โดยได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ศึกษาตลาด และ คัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมทยอยออกมานำเสนอตลอดปีนี้ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สอดคล้องกับภาวะตลาด เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้า
"ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มทิสโก้มีผลประกอบการเติบโต 15% ในปีที่ผ่านมา ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทิสโก้จะต้องดำเนินต่อไปและเข้มข้นมากขึ้นในปี 2562 โดยเฉพาะการบริการที่ต้องเน้นคุณภาพมาก่อน สิ่งสำคัญที่เราเน้นอยู่เสมอ คือความจริงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้คำแนะนำกับลูกค้า ที่อยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง และดูแลลูกค้าอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นไปตามเกณฑ์ Market Conduct ของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ในขณะเดียวกันความเร็วและความถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เร็วขึ้นและมากขึ้น ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย อาทิ การใช้ Chatbot มาช่วยตอบคำถามทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ พัฒนาให้ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลทางบัญชีในลักษณะ Self Service ได้ รวมถึงพัฒนาบริการในช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ และการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ที่จะทยอยออกมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เป็นต้น" นายสุทัศน์ กล่าว
ด้านสินเชื่อจะรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคุมต้นทุนดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยการขยายตัวของสินเชื่อคาดว่าจะเติบโตได้ดีขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังขยายตัว และยอดขายรถยนต์ที่ประเมินว่าน่าจะมียอดขายอยู่ในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นประโยชน์กับผู้ฝากเงินแต่อาจจะกระทบต่อผู้กู้ โดยเฉพาะผู้กู้ที่มีภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูงมากอยู่แล้ว ในฐานะสถาบันการเงินก็ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่วนผลกระทบต่อกลุ่มทิสโก้นั้น แม้ต้นทุนทางการเงินจะปรับสูงขึ้นบ้างแต่จะถูกชดเชยด้วย Credit Cost ที่เริ่มปรับเข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์คุณภาพสินทรัพย์และระดับการตั้งสำรองที่แข็งแกร่ง
สรุปผลประกอบการรอบปี 2561
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้รอบปี 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลัก และการรับรู้กำไรพิเศษจากเงินลงทุนและการขายธุรกิจ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.1% จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวม และการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการรับโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้ ธุรกิจนายหน้าประกันภัยและธุรกิจตลาดทุนสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวมขยายตัว 8.7% ทั้งนี้ บริษัทยังคงรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ในระดับต่ำที่ 43.7% ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญลดลง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 240,654 ล้านบาท อ่อนตัวลง 4.3% จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโอนขายสินเชื่อบุคคลและธุรกิจบัตรดิต ซึ่งคิดเป็น 2.7% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ดี ธุรกิจหลักของกลุ่มทิสโก้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กลับมาขยายตัวที่ 0.9% ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง สินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ "สมหวัง เงินสั่งได้" เติบโตอย่างแข็งแกร่งสูงถึง 40% จากสิ้นปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.86% จากการปรับปรุงวิธีการจัดชั้นคุณภาพสินทรัพย์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ตามนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และด้วยระดับการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพียงพอ อัตราส่วนของเงินสำรองรวมของธนาคารต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงสูงถึง 230%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.8% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 10.375% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.8% และ 5.0% ตามลำดับ