นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขต่อปัญหาสุขภาพ ฝุ่นละออง PM 2.5 ในการเปิดเสวนา เรื่อง ฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหาสุขภาพและแนวทางการแก้ไข จัดโดยแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบสุขภาพประชาชนจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑล โดย 1.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ระดับกระทรวงติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ 2.เร่งสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน สื่อสารความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อหลัก สื่อโซเชียล เว็บไซต์ของหน่วยงานในสังกัด 3.ให้ความรู้เชิงรุก จัดทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกให้ความรู้ประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงเช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
4.จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อจัดทำชุดความรู้ที่ถูกต้องสำหรับประชาชนและกลุ่มเสี่ยง 5.รณรงค์สร้างความตระหนักแก่ประชาชน เด็กนักเรียน ลดการเผาขยะในที่โล่งแจ้งในเขตกทม.และปริมณฑล ไม่ใช้รถควันดำ 6.เฝ้าระวังผู้ป่วย โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 22 แห่ง และ 7.เตรียมโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งให้พร้อมดูแลประชาชน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
"ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลการดูแลตนเองจากเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th คลิ๊กที่หัวข้อ "ภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 (กทม. และปริมณฑล) เพื่อดูระดับความเสี่ยงที่และวิธีการปฏิบัติตัว" หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์" นายแพทย์สุขุมกล่าว
จากนั้นได้ลงพื้นที่สร้างความตระหนักรับรู้เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 และแจกหน้ากากอนามัย ที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท สำนักงานเขตราชเทวี และด่านการทางพิเศษดินแดง โดยมอบสื่อรณรงค์เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 และหน้ากากอนามัย ให้กับผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และประทานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย