กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน โชว์แผนช่วยประหยัดพลังงานในครัวเรือน เพื่อเป็นมาตรฐานการออกแบบทางพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย และจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในบ้านอยู่อาศัยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้ประชานทราบได้ว่าบ้านพักอาศัยกำลังใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็นหรือไม่ โดยปี 62 นี้ บ้านเดี่ยวสร้างใหม่ ควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 25 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี และสำหรับห้องแถว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด สร้างใหม่ ควรมีตัวเลขไม่เกิน 44 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี สำหรับพลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศและระบบแสงสว่าง พร้อมพัฒนา "โปรแกรมคำนวนการใช้พลังงานในบ้าน" ตัวช่วยพิจารณาสภาพการใช้ไฟฟ้าในบ้าน บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ง่ายๆ ด้วยบิลค่าไฟย้อนหลัง และแปลนบ้านอีโค่ออนไลน์ เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบบ้านอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมประเทศไทย
ทั้งนี้ โปรแกรมคำนวนพลังงาน และแบบแปลนบ้านออนไลน์ สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ www.dede.go.th สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน โทรศัพท์ 02-223-0021 หรือเข้าไปที่ www.dede.go.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dedeofthailand
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในบ้านอยู่อาศัยขึ้นเป็นครั้งแรก และสร้างต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการจัดการพลังงานที่อยู่อาศัย โดยเกณฑ์มาตรฐานสำหรับปี 2562 - 2564 พบว่า บ้านเดี่ยวควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 25 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี และสำหรับห้องแถว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ควรมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 44 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ตร.ม.-ปี สำหรับพลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศและระบบแสงสว่าง
"เพื่อให้ง่ายแก่การเปรียบเทียบสำหรับประชาชน และนักออกแบบ ในการพิจารณาสภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศํย พพ. ได้พัฒนาโปรแกรมคำนวนการใช้พลังงานในบ้านใหม่ล่าสุด โดยคำนวณค่าพลังงานไฟฟ้าตลอดทั้งปี ในระบบปรับอากาศและระบบไฟฟ้าแสงสว่างของบ้าน เทียบกับพื้นที่ใช้สอยที่มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า แล้วเปรียบเทียบกับตัวเลขมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน รวมถึงพัฒนาต้นแบบแปลนบ้านอีโค่ออนไลน์ ทั้งในรูปแบบของบ้านเดี่ยว บ้านสองชั้น ตึกแถว ฯลฯ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบ หรือพิจารณาประกอบการเลือกซื้อบ้านได้ในอนาตต โดยโปรแกรมคำนวนพลังงาน และแบบแปลนบ้านออนไลน์ สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ www.dede.go.th"
ตัวเลขมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานดังกล่าว จะนำไปใช้ส่งเสริมในระยะ 20 ปี โดยจะมีการวิจัยค่ามาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานใหม่ทุกๆ 5 ปี เพื่อเป็นมาตรฐานในการออกแบบทางพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย อันจะก่อให้เกิดผลในวงกว้างเช่นเดียวกับมาตรฐานด้านพลังงานในอาคารขนาดใหญ่ และเกิดการประหยัดพลังงานของประเทศได้ตามเป้าหมาย โดยตั้งเป้าลดปริมาณการใช้พลังงานภาคที่อยู่อาศัยรวมลงประมาณ 13,633 กิกะวัตต์ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศกำลังเพิ่มขึ้นแบบไร้ขีดจำกัด หนึ่งในสัดส่วนสำคัญมาจากการใช้พลังงานในที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน มีสัดส่วนจำนวนบ้านเรือนที่มีการใช้ไฟเกินทั่วประเทศเฉลี่ยราวร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 10,000ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศเกินความจำเป็น นายสาร์รัฐ กล่าวสรุป
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุ่งโรจน์ วงศ์มหาศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อจัดทำเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย กล่าวว่า หนึ่งในเทรนด์บ้านที่กำลังมาแรง ได้แก่ บ้านที่มีระบบการจัดการพลังงานที่เหมาะสม หรือบ้าน "อีโค่" ที่รองรับกับความต้องการของตลาดเทคโนโลยีที่อยู่อาศัย และความจำเป็นในการจัดสรรพลังงาน เพื่อไปบริหารเทคโนโลยีใหม่ๆ ในบ้านพักที่จะเข้ามาในอนาคต อาทิ ระบบพลังงานทดแทน เอไอในบ้านอยู่อาศัย รถพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ โดยการออกแบบบ้านในประเทศส่วนใหญ่ ยังตกอยู่ภายใต้กลไกทางการตลาด ที่เน้นตอบสนองความต้องการด้านความสวยงาม และไลฟ์สไตล์ผู้ซื้อ ดังนั้นก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านใหม่ จึงควรพิจารณาข้อสังเกตง่ายๆ ที่จะทำให้ทราบว่าบ้านดังกล่าว มีระบบการจัดการพลังงาน และการออกแบบที่เหมาะสม ได้แก่
1. ชายคาขั้นต่ำ 2 เมตร หรือการบังแดดให้ผนัง – ช่องเปิดอาคารด้วยวิธีอื่นๆ สาเหตุหลักของการใช้ไฟเกินของระบบปรับอากาศ มีสาเหตุมาจากโครงสร้างบ้านที่ไม่มีร่มเงาจากต้นไม้ หรือชายคาบังแดดให้กับตัวบ้าน โดยระยะชายคาที่เหมาะสม ควรไม่ต่ำกว่า 2 เมตร เนื่องจากจะช่วยบังแดดให้ได้ทั้งตัวบ้าน ช่วยให้ระบบปรับอากาศทำงานได้อย่างเหมาะสม
2. หลังคาทรงสูง พร้อมฉนวนกันความร้อน หลังคาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มักเป็นทรงเตี้ย ซึ่งนอกจากจะระบายความร้อนได้ยากกว่าแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้เกิดน้ำซึมหลังคา โดยควรพิจารณาหลังคาบ้านที่ทำมุมเป็นทรงสูง ไม่ต่ำกว่า 30-35 องศา พร้อมมีการใช้วัสดุฉนวนกันความร้อนบริเวณเหนือฝ้าเพดานในช่องว่างใต้หลังคา เทียบเท่าฉนวนใยแก้ว ความหนา 3 นิ้ว เป็นอย่างน้อย
3. กระจกบ้าน ใครว่าเรื่องเล็ก ควรเลือกใช้กระจกที่เป็นสีชา หรือสีเขียว ที่ช่วยกรองแสงได้ในระดับหนึ่ง และกรอบหน้าต่างจากวัสดุไวนิล ที่นำความร้อนได้น้อยกว่ากรอบหน้าต่างจากเหล็ก
4. ตำแหน่งหน้าต่าง ช่วยระบายความร้อน จากการศึกษาพบว่า ห้องที่มีหน้าต่างเพียงบานเดียว จะมีการระบายความร้อนที่น้อยกว่าห้องที่มีหน้าต่างหลายบาน โดยควรพิจารณาตำแหน่งหน้าต่างให้อยู่ตรงข้ามกัน หรืออย่างน้อยควรทำมุม 90 องศา เพื่อให้มีการไหลเวียนเข้า – ออก ของอากาศ
5. เครื่องใช้ไฟฟ้ามาตรฐานพลังงาน ควรเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 และการออกฉลากรับรองมาตรฐานบ้านประหยัดพลังงาน และมีจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินความจำเป็น
ทั้งนี้ โปรแกรมคำนวนพลังงาน และแบบแปลนบ้านออนไลน์ สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ www.dede.go.th สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน โทรศัพท์ 02-223-0021 หรือเข้าไปที่ www.dede.go.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dedeofthailand