ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การดำเนินงานของเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี มีการขยายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด รวมถึงศูนย์ประสานงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำภูมิภาค นับเป็นกลไกที่สำคัญในการนำ วทน. ลงสู่พื้นที่ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงงานของส่วนกลางและพื้นที่ ให้พร้อมรับกับรูปแบบการบริหารราชการของประเทศที่ปรับไปสู่การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญในการผลักดันไปสู่ การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะร่วมสนับสนุนและผลักดันในแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อสร้างความก้าวหน้าของสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนโดยการนำองค์ความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านกลไกเครือข่ายความร่วมมือที่เรียกว่า "คลินิกเทคโนโลยี" ซึ่งในภาคเหนือมีเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี จำนวน 28 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่า 17 จังหวัด ปัจจุปันดำเนินงานภายใต้ 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน โดยการดำเนินโครงการผู้รับบริการไม่ต่ำกว่า 12,000 คน มีเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง 2.โครงการพัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งยผลการดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2561 มีผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาจำนวน 183 ราย 215 ผลิตภัณฑ์ 3.โครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อการผลิตระดับชุมชน ปัจจุบันได้มีเครื่องจักรต้นแบบเพื่อการผลิตระดับชุมชนตั้งแต่ปี 2547 – 2561 รวม 170 เครื่อง และ 4.โครงการศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคเหนือ หรือ ศวภ.1 ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีภารกิจในการจัดทำแผนงาน/โครงการด้าน วทน. เพื่อการพัฒนาจังหวัด
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา สส. ดำเนินการปรับกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนงานด้วย วทน. สู่การพัฒนาพื้นที่ ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีภาคเหนือ ในการจัดทำห่วงโซ่คุณค่าด้าน วทน.เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม และใช้เป็นกรอบในการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 4 ห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ 1. นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าผลไม้ (สับปะรด ลิ้นจี่ ลำไย) 2. การใช้ วทน. เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและบริการ พื้นที่ภาคเหนือ 3. นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา และ 4. นวัตกรรมเพื่อการเกษตรปลอดภัย พื้นที่ภาคเหนือ