การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปี 2562

จันทร์ ๒๘ มกราคม ๒๐๑๙ ๑๖:๑๒
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในปี 2562 ซึ่งประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีในส่วนของความร่วมมือด้านการเงิน (Financial Cooperation) โดยมีกำหนดการจัดประชุม 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงแรก จะเป็นการจัดการประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน และการประชุมคณะทำงานต่าง ๆ ภายใต้กรอบอาเซียน ในระหว่างวันที่ 11-16 กุมภาพันธ์ 2562 ณ กรุงเทพมหานคร และช่วงหลังจะเป็นการจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers' Meeting: AFMM) ครั้งที่ 23 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers' and Central Bank Governors' Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 5 ในระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2562 ณ จังหวัดเชียงราย (กำหนดการประชุมปรากฏตามเอกสารแนบ)

ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดหลัก (Theme) ของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 คือ "Advancing Partnership for Sustainability" หรือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" มาจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความยั่งยืน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง โดยมีความสมดุลในทั้ง 3 เสาความร่วมมือ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และความมั่นคง

เพื่อให้การดำเนินการด้านความร่วมมือทางการเงินสอดคล้องกับแนวคิดของการเป็นประธานอาเซียนของไทย กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันกำหนดประเด็นหลักที่เป็นกรอบการดำเนินการด้านสารัตถะของไทย (Chair's Priorities) ไว้ใน 3 หมวดหลัก คือ (1) ความเชื่อมโยง (Connectivity) (2) ความยั่งยืน (Sustainability) และ (3) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Resilience) โดยในแต่ละหมวด มีผลงานที่คาดว่าจะบรรลุ (Deliverables) สรุปได้ดังนี้

1. ความเชื่อมโยง (Connectivity) จะเน้นการพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและบริการ (Financing, Payment and Service Connectivity) และการสนับสนุนการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน (Trade and Investment Facilitation) เพื่อการสร้างอาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) เช่น การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการและการลงทุน (Local Currency Settlement) การส่งเสริมการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ การเร่งรัดการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ATIGA e-Form D) ระหว่างกันอย่างสมบูรณ์ภายใต้ระบบ ASEAN Single Window (ASW) เป็นต้น

2. ความยั่งยืน (Sustainability) จะส่งเสริมให้ภาคการเงินมีแนวปฏิบัติเพื่อให้สามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และสนับสนุนเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ภูมิภาคอาเซียนมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable ASEAN) มีการจัดทำแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอาเซียนที่ยั่งยืน และจัดทำกรอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อย (Microinsurance) ของอาเซียน

3. การสร้างภูมิคุ้มกัน (Resilience) จะเป็นการสร้างกรอบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Framework) และความร่วมมือด้านการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Oversight) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ดิจิทัลอาเซียน โดยสนับสนุนการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) แก่บุคลากรด้านการเงินของประเทศสมาชิก และผลักดันให้เกิดเครือข่ายกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนพร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนในภูมิภาคเพื่อป้องกันการหลอกลวง (Scams) รวมทั้งการให้ความรู้ด้านพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล

การดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามผลงาน (Deliverables) ข้างต้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติ มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมต่อการพัฒนาในระยะยาว และมีกระบวนการด้านภาษีศุลกากรและสรรพากรระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นมาตรฐานและมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนจะเป็นไปอย่างยั่งยืนและทั่วถึง สามารถรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ และที่สำคัญ เศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนจะมีความทันสมัย มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีมาตรการพร้อมรับมือภัยคุกคามของโลกไซเบอร์ และมีกฎเกณฑ์รองรับนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอาเซียนก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version